คนที่ใช่

“คนที่ใช่” หมายถึง “คนที่เหมาะ” แต่ใจจะไม่รอคนเหมาะ เพราะกิเลสสั่งให้หาคนที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ซึ่งก็นั่นแหละครับ เป็นสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เจอคนที่ใช่กันสักที” จากหนังสือ รักแท้มีจริง

ความเหงาเป็นตัวผลักดันให้เราเลือกคนให้เร็วที่สุด แต่ความเหงา ไม่ได้ทำให้ความรักของเรามี “ความสุข” 

ถ้าจะบอกว่าความรักเป็นเรื่องของอารมณ์คงจะไม่มีใครปฏิเสธ แต่ถ้ามองความรักว่าเป็นเรื่องของ “หัวใจ”เราคงต้องใช้เหตุผลที่เป็นส่วน หัว (สมอง) และใช้อารมณ์ที่เป็นส่วนของใจ มาผสมผสานกันให้พอดีด้วย

เมื่อเริ่มความสัมพันธ์ สังเกตไหม อารมณ์ช่วงแรกของคนรักกันจะเป็นประมาณแบบว่า “คนนี้ใช่เลย” แต่พอจะเลิกกันก็มักจะเป็นประมาณว่า “เขา/เธอ ไม่ใช่” เสมอ

ลองสังเกตดูดีไหมว่าที่ว่า “ใช่” นั้น เราใช้อารมณ์นำหรือ เหตุผลนำ

มนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผลแบบเนียน ๆ ได้เสมอ โดยไม่รู้ตัว

เราอาจ “ใช่” เพราะอารมณ์อยากได้ แล้วค่อยหาเหตุผลสนับสนุนอารมณ์ทำเพื่อให้ได้มาเพราะอยากครอบครอง ทำให้หลายครั้งเราจึงมองข้ามข้อเสียของอีกฝ่ายได้ในตอนแรก โดยเราอาจลืมเข้าใจสภาพความเป็นจริงของอารมณ์ว่า มันมีขึ้นมีลงเหมือนคลื่นได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนเหตุผลที่ถ้ามันเป็น fact มันก็จะยังคงเป็น fact ไม่เปลี่ยนไป

ถ้าเราเลือกใครด้วยอารมณ์ ก็มีความเสี่ยงที่ว่าหัวใจไม่ใครสักคนหรือทั้งสองคนจะต้องมาบรรจบที่ทุกข์ในตอนท้าย เพราะเมื่อหมด ความพอใจ ข้อเสียเล็ก ๆ จะกลายเป็นข้อเสียใหญ่ ๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ “ไม่ใช่” ขึ้นมาได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเริ่มรักด้วยอารมณ์ แต่เอาเหตุผลนำมาก่อน คือไม่ให้อารมณ์ชอบใจตรงนั้นบังเหตุผล

จนมิด แนวโน้มของความรักยั่งยืนก็ย่อมมีสูงขึ้น

ถ้าใช้เหตุผล คนที่ใช่คือ คนที่เหมาะ หรือคนที่เสมอกันกับคุณ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าคนเราทุกคนหวังจะมีคู่ด้วยเพราะอยากมีความสุข ดังนั้นก็ต้องหาปัจจัยที่จะบ่งบอกได้ด้วยว่า คุณคบเขา/เธอแล้วจะมี ความสุข (และเขา/เธอคบคุณแล้วจะมีความสุข)

และถ้าอยากมีความสุขระยะยาวก็ต้องมองภาพรวมระยะไกล ไม่ใช่ความสุขระยะสั้น ๆ เฉพาะหน้า

ด้วยเหตุนี้เราจึงควรมีเป้าหมายและส่วนผสมในการตัดสินใจที่ชัดเจนคือ 

ถ้าเรามีเป้าหมายเหมือนกัน เราจะเดินไปด้วยกันได้ ไม่เกี่ยงว่า ฉันจะไปทางซ้าย เธอจะไปทางขวา  คู่ที่มีเป้าหมายอย่างเดียวกันจะ

มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกันเดิน เพราะให้ความสำคัญกับสิ่ง ๆ เดียวกัน เช่น ถ้าคนหนึ่งตั้งเป้าหมายชีวิตคู่ไว้ว่าจะต้องมีลูก อีกคน ไม่อยากมี อย่างนี้คงตกลงกันลำบาก หรืออย่างคนหนึ่งมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำทุกทางเพื่อไปสวรรค์ แต่อีกคนล่องลอยไม่ได้มีเป้าหมายอะไรแน่ชัด ขอใช้ชีวิตทางโลกให้คุ้ม กิจกรรมในการดำเนิน

ชีวิตก็จะแตกต่างกันไป

ถ้าเรามีนิสัยไม่ชอบเบียดเบียนใครเสมอกัน เราจะอยู่ร่วมกัน อย่างเป็นสุข เช่น ถ้าคนหนึ่งแอบไปโกงเงินใครไว้ ถ้าถูกจับได้ เป็นคู่กันแล้ว คงไม่เดือดร้อนแค่คนเดียว ไม่ร้อนใจก็ร้อนกายร่วมกัน

ถ้าเรามีน้ำใจเสมอกัน เราจะมีแต่คำว่าให้ ช่วยดึงเมื่ออีกฝ่ายเขว ช่วยปลอบเมื่ออีกฝ่ายท้อ ช่วยเตือนเมื่ออีกฝ่ายพลาด เพื่อประคองกันไปจนถึงที่หมาย ความรักก็จะสดชื่น ไม่แห้งแล้ง

และถ้าเรามีระดับการคิดใกล้เคียงกัน เราจะมีคนช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาและฟันฝ่าอุปสรรค ในวันที่เรารู้สึกแย่ มืดตื้อคิดอะไร ไม่ออก อีกคนหนึ่งก็สามารถช่วยกันคิดช่วยกันแก้ปัญหาได้ สลับกันไป

ซึ่งเรียกรวมในทางพุทธคือ ศรัทธา ศีล จาคะ (ทาน) และปัญญา นั่นเอง

เมื่อเรามีไอเดียในการเลือกอย่างนี้แล้ว ใช้เหตุผลนำ การเลือกคน อย่างใจเย็นเหมือนเลือกของอย่างปราณีตจะไม่ทำให้เราเจ็บ และทุกข์ซ้ำซาก

แต่เริ่มแรกที่แรกจริง ๆ เลย เราคงต้องมาสำรวจกันก่อนว่าเรามีอะไรครบครันในสี่ข้อข้างต้นหรือไม่ ถ้าเราเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมว่าทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น ก็ขอบอกเลยว่าไม่ต้องหา แต่เมื่อถึงเวลาเขา/เธอจะเข้ามาเอง เราสามารถหาคู่อย่างนั้นด้วยการสร้างตัวเราเองให้เป็นแบบนั้นก่อน เพราะกรรมที่เราทำนอกจากจะส่งผลให้เราพบเจออย่างไรแล้ว ยังส่งมาที่กายที่ใจของเราเป็นหลักด้วย หากเราเข้าใจว่ากรรมเริ่มขึ้นที่ใจ มีเหตุมาจากใจ ส่งผลตรงที่ใจ ความรักก็เป็นผลของกรรมอย่างหนึ่งที่ส่งมาที่ใจเราล้วน ๆ เป็นผลมาจากกรรมที่บันดาลให้

ใจนึกรักคนที่เป็นอย่างใจเราเป็น และทำมา

พูดให้เข้าใจง่ายหน่อยว่า คนเราเลือกเพราะความพอใจ มากกว่าเพราะความเหมาะไม่เหมาะ ดีไม่ดี เช่น เราชอบอ่านนิยาย เราก็มักจะเดินไปที่มุมนิยายในร้านหนังสือก่อนมุมอื่น ๆ มีคนให้ หนังสือมาสองเล่ม เล่มนึงเป็นนิยาย อีกเล่มเป็นหนังสือธรรมะ เราก็จะเลือกอ่านนิยายก่อน คำอธิบายนี้ก็จะตอบคุณได้ว่าใจมีความชอบอะไร ใจก็มีแนวโน้มว่าจะมุ่งไปหา หรือเลือกสิ่งนั้น ๆ โดย ตัวของมันเอง

และถ้าเข้าใจว่าความพอใจเกิดจากความคุ้นเคยของใจคือ การทำอะไรบ่อย ๆ  ก็จะติดเป็นความเคยชินแบบนั้น ๆ  เราก็สามารถสร้างความพอใจให้กับใจของตนเองได้

แต่อยู่กับใครแล้วจะมีความสุขก็เพราะเขาดีมิใช่หรือ? แล้วอะไรล่ะที่เรียกว่า “ดี” ถ้ามองอย่างโลกอะไรที่ดีในสายตาคนหนึ่งอาจจะไม่ดีในสายตาอีกคนหนึ่ง แต่ถ้ามองอย่างธรรม อะไรที่ดีคือ สิ่งที่จะก่อให้เกิดความสุข สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขก็คือ บุญ ทั้งบุญจากการให้ทาน รักษาศีล และอื่น ๆ 

ถ้าใช้เกณฑ์ข้างต้นในการเลือกคือ มีเป้าหมายแล้ว ก็ทำตัวเราให้มี ๓ ข้อที่เหลือให้มาก ๆ  ทำตนเองให้ดีขึ้นให้เรื่อย ๆ  สุดท้ายกรรมก็จะส่งคนที่ “พอดี” กับกรรมที่เราทำมาให้เอง  แนะนำวิธี สร้างรักให้มีสุข หนังสือ “รักแท้มีจริง” ของคุณดังตฤณ

ก่อนจบคอร์สโดยสมบูรณ์ก็อยากฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ถ้าเข้าใจเรื่องธรรมชาติ ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ความเหมาะหรือไม่เหมาะมันมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ในความสัมพันธ์ของคนสองคน ดังนั้นที่ว่าเหมาะในช่วงแรกเพราะกรรมจัดสรร (ซึ่งบางครั้งอาจจะส่งภาพให้เราจินตนาการเกินจริงไปว่าเขา/เธอเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้เราหลงรักใครตามกรรม) อาจจะไม่เหมาะในเวลาต่อมา ศรัทธา ศีล จาคะ (ทาน) และปัญญา จึงเป็นสิ่งที่คนสองคนยังคงต้องพัฒนาต่อเนื่องให้เท่าเทียมกันเสมอ เพื่อให้เดินไปพร้อม ๆ กันได้ ไม่รั้งท้าย ไม่แซงหน้าอีกฝ่ายไปไกล ถ้าทำได้เสมอกันทั้งสองคน ความสุขก็จะเกิดมีขึ้นในความสัมพันธ์ไปเรื่อย แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเราสร้างเหตุที่ดีเสมอ จะมีคู่หรือไม่มี ตัวเราย่อมเป็นผู้ได้รับความสุขเสมอและแน่นอน ดังนั้นจะมีหรือไม่มีคู่ที่เหมาะ เราก็ยังไม่ควรหยุดที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลานะคะ

ขอให้โชคดีมีความสุขทุกคนค่ะ ^^

Ying LeoLino

 


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.