ความรักกับความเหงา

มีน้องสองคนมาชักชวนให้ร่วมเขียนเรื่องสำหรับส่งไปลงในธรรมะใกล้ตัว คนแรกให้หัวข้อความรัก คนถัดมาให้หัวข้อเรื่องความเหงา ผมบอกคนหลังว่าสำหรับผมแล้ว ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันที่พูดออกมาจากสองมุมนั่นเอง ลองมาดูกันครับว่าสองอย่างนี้เป็นเรื่องเดียวกันไหมและอย่างไร ตลอดจนมีความเกี่ยวโยง กับพระพุทธศาสนาอย่างไร

ขอเข้าเรื่องด้วยการยกสิ่งที่สังเกตได้ล่าสุดจากเว็บแห่งหนึ่งที่ผมแวะไปบ่อย ๆ มาประมาณ ๔ ปี เห็นได้ชัดเจนว่า ปีแรกที่เข้าไป คือราวปี ๒๕๔๕ ชื่อกระทู้ช่วงนั้นไม่มีคำประเภท “เหงา” “เหงาจัง” “อกหัก” “แฟนทิ้ง” “เป็นโสด” ปะปนอยู่ในชื่อกระทู้ให้เห็นเลย แต่มาในช่วงปี ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา เปิดทีไรเป็นต้องเจอกระทู้ที่มีคำว่าเหงาปรากฏให้เห็นในหน้าแรกของเว็บ บางครั้งมีสามกระทู้ในหน้าแรก ซึ่งสิ่งที่ผมมักจะทำทันที ถ้าขณะนั้นพอมีเวลาก็คือ เข้าไปออกความคิดเห็นสั้น ๆ ทันทีว่า ให้ไปหาคำตอบได้ที่ http://www.dungtrin.com/watha_love ซึ่งเท่าที่ติดตามอ่านดู เจ้าของกระทู้ก็มักจะหายเงียบไปเลย จนไม่ได้ข้อมูลต่อเนื่องว่าเมื่อไปอ่านแล้วเขาเหงามากขึ้นหรือน้อยลงกันแน่ :-)

เคยตั้งใจค้นหาคำตอบกันบ้างไหมครับ ว่าความรักคืออะไร และความเหงาคืออะไร ความรักเกี่ยวข้องกับความเหงาอย่างไร ทำไมจึงเหงา เหงามากขึ้นเมื่อไหร่ เหงาน้อยลงเมื่อไหร่ หายเหงาเมื่อไหร่ มีใครบ้างที่ไม่เหงา มีใครบ้างไม่ต้องการความรัก ที่ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ตั้งใจสร้างฐานะ หาเงินทอง หาคนรัก ไปเรียนหลักสูตร พัฒนาบุคลิกภาพ เรียนการแต่งตัวดีให้คนชื่นชม ทำผมแต่งหน้า หรือผ่าตัดเสริมหล่อเสริมสวยไม่ว่าส่วนใดในร่างกาย เกี่ยวข้องกับ ความเหงาหรือไม่อย่างไร

จากที่เห็นและมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและคนรอบ ๆ ตัวมาหลายร้อยกรณีเป็นเวลาหลายปี สรุปได้ว่า

“คนที่กำลังเหงา ถ้าได้รับความรักแล้วจะหายเหงา ส่วนคนที่ไม่เหงา ก็ไม่ค่อยเห็นว่าความรักจะสำคัญถึงขนาดขาดไม่ได้ เหมือนคนที่กำลังเหงาจับจิต”

อารัมภบทมาพอแก่การระลึกถึงความเหงาของผู้อ่านแล้ว คราวนี้ขอแจกแจงสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากทั้ง ครูบาอาจารย์ และจากสิ่งที่ประสบมาว่า ความเหงาคือความอยากรู้ว่าเรามีตัวตนครับ และวิธี ดับความเหงา มีสองวิธี

วิธีที่ ๑ นั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว คือหาสิ่งกระทบประสาท สัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ที่แสดงว่าเรามีตัวตน โดยเฉพาะการที่มีคนอื่นมาให้ความสำคัญกับเรา ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า ความรัก คำบอกรัก อาการแสดงความรักไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการกระทำจากคนรักนั่นเอง ซึ่งวิธีพื้น ๆ ก็เช่น การกิน ดื่ม ดูหนัง สูบบุหรี่ อ่านหนังสือ กระหน่ำทำงาน นี่ก็เพื่อให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตน ซึ่งจะ ช่วยดับความเหงาลงได้

และวิธีที่ ๒ ที่นำไปสู่การดับความเหงาอย่างถาวร คือการเฝ้ารู้ เฝ้าดูสิ่งใดก็ตามที่แสดงถึงความเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เพื่อทำความรู้จักกับมันอย่างชัดเจน และถ่องแท้ว่ามันเป็นเรา เป็นของเราได้ตลอดไปโดยไม่สูญหายจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียง ความเข้าใจผิด ยึดถือผิดของเราเองโดยไม่ยอม เปิดใจรับความเป็นจริง และสุดท้าย เฝ้าดูไปจนกว่าจะรู้ว่า ความเป็นตัวเป็นตน ความยึดว่าเป็นของเรานั้น โดยแท้จริงแล้วนั้น นำมาซึ่งสุขหรือ ทุกข์กันแน่

คนที่เหงา แม้อยู่ท่ามกลางฝูงชน เช่น ในคอนเสิร์ต แต่ไม่มีใคร สนใจหรือใส่ใจเขาก็เหงาได้ ในทางตรงกันข้าม การอยู่กับคนที่มั่นใจ เชื่อใจจากความเห็นชัดแล้วว่า รักเขาอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เพียงสองคนกลางป่าลึก แม้คนรักนั้นจะออกไปหาอาหาร วันสองวัน ก็ไม่รู้สึกเหงา เพราะรู้สึกถึงความรักนั้นอยู่ เรียกว่าใจมีเครื่องอยู่

อันเป็นความรักความเมตตาจากคนรักของเขานั่นเอง

คนที่เหงา เมื่อได้รับความรักความใส่ใจ จะมีความสุขความสดชื่น ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดในขณะที่คนที่ไม่เหงา หรือคนที่ได้รับความรัก มากอยู่แล้ว แม้จะได้รับความรักเพิ่มขึ้น ก็ไม่รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ และอาจจะรำคาญเสียด้วยซ้ำที่ไปยุ่งกับเขามากเกินไป กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงใจของคนเหงาอันเป็นใจ ซึ่งไม่มีที่อยู่ จึงแสวงหาที่อยู่ที่พักใจกับอีกใจหนึ่งซึ่งมีที่อยู่อยู่แล้ว จึงไม่ได้แสวงหา แม้จะมีที่อยู่ใหม่ มาเสนอให้ ก็ไม่ได้ดีใจเพราะไม่ได้แสวงหา ไม่เหมือนกับใจที่ยังเหงา ยังแสวงหาที่อยู่ที่พัก ที่เมื่อได้รู้ว่าจะได้ที่อยู่ที่พักใจ ก็ย่อมจะสงบ ลงไปได้เพราะใจหยุดแสวงหา และความสงบลงนั้นเอง ที่เป็นเหตุ ของความสุข

ใจที่สงบลงจากความหวังว่าจะได้ที่อยู่ที่พักซึ่งหมายถึงการมีคนมาจีบอันนำให้เกิดความหวังว่าจะได้ที่พัก หรือนำไปสู่ความเห็นว่าตนเองมีความสำคัญ คือมีตัวตนขึ้นมา จึงสงบลงเพราะการหยุด แสวงหาชั่วคราวนั้น เป็นลักษณะของการสงบลงจากความหวัง ยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง และแม้จะได้ตกลงเป็นแฟนกันจริง ๆ ไปแล้ว ก็เป็นการสมมุติว่าเป็นแฟนกัน ตั้งอยู่บนสัจจะและความซื่อตรงของคู่สัญญาที่ทำความตกลงกันนั้น ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็ยังตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะคนที่ทำความตกลงนั้น ยังสามารถเปลี่ยนใจได้ หรืออาจจะล้มหายตายจากกันไปเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะไม่มีใครสามารถระบุหรือกำหนดวันตายของตนเอง และคนรอบตัวได้ ซึ่งทุกคนก็รู้แน่ว่าตนเอง และทุกคนรอบ ๆ ตัวจะต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง

กลับมาเรื่องความรักกันบ้าง อันที่จริงในพุทธศาสนาไม่ได้นิยามเรื่องความรัก แต่ที่ใกล้เคียงที่สุดกับความรักก็คือพรหมวิหารธรรมอันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งในความเมตตานั้นก็จำเป็นจะต้องมีอุเบกขา จึงจะเป็นเมตตาที่แท้จริง ถ้าไม่มีอุเบกขา ก็ไม่ใช่เมตตาเพราะพร้อมจะพลิกไปกลายเป็นเหตุแห่งทุกข์ของผู้นั้นได้เสมอ

เมื่ออ้างอิงถึงเมตตา ก็ควรลงรายละเอียดสักเล็กน้อยว่าเมตตานั้น หมายถึงเจตนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข คือเป็นบวก 

ซึ่งต่างจากกรุณาอันหมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ คือจากติดลบเป็นศูนย์ ส่วนมุทิตานั้นหมายถึงความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี ซึ่งผู้ที่มีมุทิตาย่อมมีความสุขแม้เพียงได้เห็นหรือได้รับทราบว่ามีผู้ใดเป็นสุข

เขียนมาถึงตรงนี้ เกิดระลึกถึงใจความส่วนหนึ่งของข้อความในนิยายจีนกำลังภายในที่เคยผ่านตามาคือ “ฤทธิ์มีดสั้น” ผู้แต่งคือ โกวเล้ง ส่วนผู้แปลคือ น.นพรัตน์ ว่าคนที่อยากตายนั้น จะไม่อยากตายอีกต่อไป เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นประโยชน์กับคนอื่น และคนจะเป็น ประโยชน์กับคนอื่นได้ ก็ด้วยการทุ่มเทช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งคนเช่นนั้นจะไม่รู้สึกอยากตายเลย ซึ่งพอแปลได้ว่า คนที่ฆ่าตัวตายหรืออยากตายนั้น ต้องไม่ใช่คนที่ทุ่มเททำประโยชน์กับส่วนรวมด้วยเจตนาเพื่อให้ แต่เป็นผู้ที่มีนิสัยเรียกร้อง พูดสั้น ๆ คือ เสพมากกว่าสร้างนั่นเอง

ย่อหน้าข้างบน เชื่อมโยงกันกับคำพูดที่พูดต่อ ๆ กันมาให้ ได้ยินเสมอ ๆ  ไม่ว่าจะชาติใดภาษาใด ที่ว่าต้องรักตนเองเป็นเสียก่อน จึงจะสามารถรักผู้อื่นเป็น สิ่งที่ขอเสริมในประเด็นนี้ก็คือ คนจะ รักตนเองเป็นนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น คือรู้จักการให้ด้วยพรหมวิหารธรรม คือให้หรือทำสิ่งต่าง ๆ ให้ด้วย 

เจตนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข พ้นทุกข์ รวมทั้งเป็นผู้ที่พลอยยินดีเมื่อเห็น ผู้อื่นได้ดีเท่านั้น ซึ่งผู้ที่มีพรหมวิหารธรรมเท่านั้น จึงจะสามารถรัก ผู้อื่นเป็น คือรักโดยไม่ก่อทุกข์กับตนเองและไม่ ก่อทุกข์กับผู้อื่นด้วย

ที่กล่าวมาก่อนหน้า เป็นเรื่องของความรักที่เชื่อมโยงกับเรื่องทางธรรม อธิบายด้วยธรรมถัดจากนั้น สิ่งที่ควรแก่การกล่าวถึงก็ควร จะเป็นความรัก และการอยู่ร่วมกันเป็นคู่ ซึ่งสิ่งที่จะนำเสนอในที่นี้ก็คือ ความรัก และการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งดูจะเป็นความปรารถนาของคนในโลกแทบทุกคน ซึ่งปัจจัยสำคัญของการอยู่ร่วมกัน

ของคนสองคนอย่างยั่งยืนนั้นก็คือความสมดุลในความสัมพันธ์ ซึ่งความสมดุลนี้หมายถึงการที่ทั้งสองฝ่ายทำสิ่งต่าง ๆ เท่า ๆ กันโดยไม่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบกอยู่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งปัญหาหลัก ระหว่างคนสองคนที่จะมาอยู่ร่วมกันนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความสุขที่เกิดจาก การอยู่ร่วม หากแต่เกิดจากความขัดแย้ง ซึ่งเมื่อความขัดแย้งเกิด สิ่งที่จะต้องเกิดตามมา เพื่อสะสางความขัดแย้ง ก็คือการปรับตัว เข้าหากัน ซึ่งการปรับตัวเข้าหากันนี่เอง ที่เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้อง ช่วยกันรักษาให้เกิดความสมดุล กล่าวให้ชัดเจนก็คือ ทั้งสองฝ่าย จะต้องปรับตัวคนละครึ่ง และต้องไม่ปล่อยปละละเลยต่อการรักษาให้การปรับตัวของทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาพ ฉันครึ่งเธอครึ่งอย่าง สม่ำเสมอ ไม่ใช่ปล่อยหรือเรียกร้องให้อีกฝ่ายปรับโดยที่ตนเองไม่ยอมปรับเลย

การปรับอยู่เพียงฝ่ายเดียว รวมไปถึงการยอมปรับอยู่เพียง ฝ่ายเดียวนั้น เป็นความไม่สมดุลย์ และความไม่สมดุลย์ที่เกิด จะนำไปสู่ความแตกแยกในที่สุด อันเป็นความแตกแยกจากความ ไม่เสมอภาค เพราะฝ่ายที่ยอมปรับตัวนั้น คือฝ่ายที่เปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงไปมากเข้า จากเดิมที่เหมาะสมกันอยู่ ก็จะค่อย ๆ กลายเป็นไม่เหมาะสมกันทีละเล็กละน้อย จนในที่สุดเมื่อความเหมาะสมกันหมดลง ความรู้สึกรักใคร่ใยดีก็จะหมดลงไปด้วย เพราะความรักใคร่ใยดีระหว่างกันนั้นเกิดจากความสมกันหรือเสมอกันของ ๔ ปัจจัยคือ ศีลเสมอกัน ศรัทธาเสมอกัน ปัญญา เสมอกัน และจาคะเสมอกัน โดยผู้ที่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเองเพียงฝ่ายเดียวนั้น คือผู้ที่จะได้พัฒนาจาคะ และปัญญาของตน ให้มากขึ้นทุกครั้งไปนั่นเอง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้พัฒนาหรือได้พัฒนาน้อยมากเพราะไม่ยอมวาง และไม่ยอมพิจารณาเหตุของความขัดแย้งนั่นเอง

ถัดจากนั้นขอแจกแจงความหมายของศีล ศรัทธา ปัญญา และจาคะว่า

ศีล หมาย ถึงเจตนาจะละเว้นการละเมิดผู้อื่น

ศรัทธา หมายถึงความเชื่อโดยปราศจากการพิสูจน์

ปัญญา หมายถึงระดับความรู้ชัด รู้แจ้งในสิ่งต่าง ๆ ทั้งภายใน ภายนอก

และสุดท้าย จาคะ คือความสามารถในการสละออก ปล่อยวาง ยอมละทิ้ง และทั้งสี่ปัจจัยนี้ เป็นธรรมที่ผู้ที่จะอยู่ร่วมกันต้องมีเสมอกัน ซึ่งเมื่อมีเสมอกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกรักใคร่ใยดีจากใจจริงต่อกันนั่นเอง

สรุปโดยย่อก็คือ ความเหงา เป็นต้นเหตุของการแสวงหา และการแสวงหาหรืออาการทะยานอยาก (ตัณหา) ก็คือเหตุของความทนอยู่ได้ยากหรือทุกข์ทั้งปวง และความเหงาสามารถดับได้ด้วยการเฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ที่ความเป็นตัวเราหรือที่เรียกว่า รู้ตัว หรือสัมปชัญญะไปจนกว่าจะเห็นความจริงว่าโดยแท้แล้ว ความเป็นเรานั้น คือกายนี้หรือไม่ คือเวทนานี้หรือไม่ คือจิตนี้หรือไม่ หรือว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเรา คือเราหรือไม่  ซึ่งความเห็นที่ได้จากการเฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ที่ความเป็นเรานี่เอง ที่จะทำให้จิตเริ่มรู้จักการปล่อยวางและรู้จักอุเบกขาซึ่งไม่ใช่การวางเฉยไม่ลงมือทำ แต่เป็นการกระทำด้วยจิตที่เป็นกลาง ทำด้วยเมตตา ด้วยกรุณา โดยที่ผู้กระทำไม่ทุกข์ ไม่ว่าผลจะออกมาตรงกันข้ามกับที่หวังหรือไม่  เมื่อเป็นเมตตาและกรุณาที่มีอุเบกขาแล้ว มุทิตาจะเกิดตามมาเอง และเมื่อมีมุทิตาแล้ว ก็เสมือนหนึ่งมีแหล่งกำเนิดอานิสงส์ภายในโดยไม่ต้องลงมือกระทำนั่นเอง

เพียงพลอยยินดีกับผู้ได้ดีหรือทำดีใจก็สงบร่มเย็น และเป็นกุศล โดยไม่ต้องออกแรงเลย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วความทุกข์ร้อนจะเกิดได้อย่างไร เมื่อใจมีอุเบกขาเป็นภูมิคุ้มกัน ทุกข์จากความผิดหวัง มีสัมปชัญญะเป็นสายตาเฝ้าระวังเส้นทาง มีปัญญาเป็นแสงสว่างไม่ให้เดินหลงออกนอกทาง 

เจริญในธรรมครับ _/|\_

Penguin 2004

ที่มา http://dungtrin.com/mag/?3.miscel


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.