๔. ทุกข์เพราะเหงา

รู้สึกเหงา

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความต้องการเข้ากลุ่ม ต้องการให้มีคนยอมรับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งเราก็ต้องอยู่คนเดียว บางคนอาจจะอยู่คนเดียวแล้วมีความสุข แต่คงไม่ทุกครั้ง และมีอีกหลายคนที่รู้สึกเหงา โดยเฉพาะกับคนที่เคยมีคู่แล้วไม่มีหรืออยู่คนเดียวมานาน บางทีก็อยากมีกิจกรรม หรือมีงานอดิเรกเพื่อแก้เหงา หรือจนกระทั่งอยากมีใครซักคนที่จะอยู่เคียงข้างเวลาสุขและทุกข์ไปจนแก่เฒ่า

ในเรื่องอารมณ์ เวลาเหงาๆ เคยสังเกตไหมว่าความรู้สึกมันเป็นยังไง สำหรับดิฉันเวลาที่เหงามันคือความรู้สึกเคว้งคว้าง อยากทำอะไรสักอย่าง อยากหาอะไรเป็นที่ยึดเกาะ เวลาที่เหงา เราจะมีความรู้สึกเป็นทุกข์ คือไม่อยากอยู่เฉยๆ ใจจะลอยออกไป คิดว่าอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดมัน เหงาน้อยหาอะไรนิดหน่อยทำก็พอคลายได้ เช่น ดูหนังฟังเพลงก็พอจะทำให้อยู่คนเดียวได้เป็นครั้งคราว แต่เวลาเหงามากๆ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นทุกข์มาก ยิ่งตอนอกหัก รักสลาย อยู่บ้านคนเดียวเปิดเพลงเศร้าๆ คลอไป ไม่พอแล้ว ต้องออกไปหาเพื่อน หรือเลยเถิดไปจนถึงหาแฟนใหม่ อาการเศร้าๆ ซึมเพราะเหงาถึงจะหยุดลง แต่มันก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดเพราะเราก็จะเหงาแล้วเหงาได้อีกเสมอ พี่ชายทางธรรมขยายความเพิ่มให้ว่า ตอนที่เหงามันคือความรู้สึกว่างเปล่า รู้สึกว่าเราไม่มีตัวตน ไม่มีใครสนใจ ไม่อยากอยู่คนเดียว เมื่อใจปรุงแต่ง ใจก็คิดนึกไปว่า ถ้ามี ถ้าได้สิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วจะหายเหงา แล้วจิตก็ทะยาน(เป็นตัณหา) ออกไปหาสิ่งภายนอก ความเหงาจะคลายออกเป็นครั้งเมื่อได้รับการตอบสนอง หรืออาจกล่าวอีกนัยได้ว่า เวลาที่เหงามันคือความอยากรู้ว่าเรามีตัวตนนั่นเอง

เพราะความอยากรู้ว่าเรามีอยู่ที่ไหนสักแห่งเราจึงต้องพยายามพิสูจน์มัน ด้วยการเสพกามอันประกอบด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเรายังมีมีคนมาให้ความสำคัญ มีคนมาตอบสนองความรู้สึกมีสิ่งของมีบุคคลมาบ่งชี้ว่ามีเรา (มีพ่อแม่เราเพื่อนเราแฟนเรา) ทำให้เราถูกขังอยู่ในกรอบด้วยการวิ่งล่าความสุขจากการมีอะไรมาบอกว่าเรามีตัวตนและวิ่งหนีความทุกข์ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวตนหายไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสุขและทุกข์มีการผันแปรเกิดและดับไปอยู่ตลอดเวลา และความรู้สึกว่าเหงาก็เช่นกัน

ทางแก้ในแบบโลกที่เราเคยชินนั้น เป็นการทำให้หายเหงา หรือทุกข์หมดไปเป็นคราวเมื่อได้รับการตอบสนอง คนส่วนมากอาจรู้สึกว่าตัวเองเริ่มทุกข์ ตอนไม่ได้ตามที่หวัง แต่ที่จริงแล้วเราเริ่มทุกข์ตั้งแต่เริ่มอยาก เพราะว่าเมื่อมีอยาก เราจะต้องพยายามดิ้นรน หาหนทางเพื่อให้ได้สิ่งที่เราเชื่อว่าจะดับความอยาก ความเหงาลงได้ แต่ถ้าเราเข้าใจความอยากและความเหงาว่ามันเป็นสิ่งชั่วคราว เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้นตลอดทั้งวัน หรือทุกวัน ทดลองได้โดยการเฝ้าดูลงไปที่ใจ ก็จะเห็นว่าบางทีก็เหงามาก บางทีก็เหงาน้อย บางทีเราก็ไม่รู้สึกเหงา เราก็จะเข้าใจว่าความเหงามันมาเองได้มันก็ไปเองได้ โดยที่เราไม่ต้องไปหาวิธีให้มันหยุด ที่เราทุกข์เพราะเราพยายามบังคับให้มันหาย เพราะเรายึดว่าก้อนทุกข์ที่อยากแก้นี้คือตัวเราเราจึงพยายามแก้ไข ดัดแปลงปัญหาของความเหงาทั้งหมดที่ทำให้เป็นทุกข์ได้จึงผูกรั้งไว้กับคำเดียวคือ คำว่าเรา

คนอยากมีแฟนก็ด้วยเหตุที่ว่าการมีแฟนจะนำไปสู่สภาวะที่มีคนมาแสดงว่าเขามีตัวตนทั้งเอาใจทั้งฝากใจไว้ให้กันและกัน  ที่หวงแฟนนั้นเป็นผลจากโมหะ คือหลงว่าคนนี้น่าครอบครองหรือว่าเป็นของเรา เราเกิดราคะหรือความกำหนัดยินดีในคนหรือของที่ยึดหรืออยากยึด เมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจจะนำไปสู่การไม่ได้มาหรือการเสียไปซึ่งคนหรือของที่เราคิดหรือหวังว่าเป็นของเราก็จะเกิดเป็นโทสะด้วยความเคยชินว่าจะปกป้องการเสียไปหรือการไม่ได้มาซึ่งสิ่งที่หวังและยึดเอาไว้

กล่าวถึงโดยทั่วไป เพราะความอยากรู้และยึดมั่นว่าเรานั้นมีตัวตนนี่เอง ที่เป็นผลทำให้เราดีใจ มีความสุข เมื่อมีสิ่งกระทบตา (ได้เห็นภาพ เห็นแสง) หู(ได้ยินเสียง) จมูก(ได้กลิ่น) ลิ้น(ได้รส) กาย  (ได้สัมผัส) ใจ(รู้สึก) ที่ยืนยันว่าเรามีอยู่ หรือเพิ่มความมีเรา เช่น เราดี เราเก่ง เราสวย เรามีความสำคัญ ใครก็รัก ชื่นชม และอื่นๆ ซึ่งเราพร้อมจะยึดมั่น อยากค้นหา อยากได้ อยากให้มีสิ่งที่จะมาคอยย้ำอยู่เสมอ ว่าเรามี” (ตัวตนอยู่นะ)

เช่นกัน เพราะความอยากรู้และยึดมั่นว่าเรานั้นมีตัวตน เป็นผลทำให้เราโกรธ ไม่พอใจเวลาที่มีสิ่งกระทบตา(ได้เห็นภาพเห็นแสง) หู(ได้ยินเสียง)จมูก(ได้กลิ่น)ลิ้น(ได้รส)กาย(ได้สัมผัส) ใจ(รู้สึก) ที่ลดความเป็นตัวเป็นตน เช่น เราผิด เราไม่ดี เราไม่สวยเราโง่เราไม่มีคุณค่าเราไร้ประโยชน์ไม่มีคนรักเราไม่มีคน ให้ความสำคัญกับเราและอื่นๆ ซึ่งเราพร้อมจะโกรธหรือเกลียดใครหรืออะไรก็ตามที่มาละเมิดความเป็นเราเพราะมันทำให้เราหายไป!

การจะหยุดความเหงาได้หรือไม่เป็นทุกข์เพราะความเหงาได้ จึงต้องมาเข้าใจมาศึกษาที่ตัวเราที่ใจเราให้ถ่องแท้ว่าที่แท้แล้วที่เราเป็นทุกข์นั้น มันทุกข์ขึ้นมาลอยหรือเพราะเราไปสร้างความคิดไปสร้างกรอบไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้ตัวเอง(รวมถึงให้คนอื่น) แล้วพอไม่ได้อย่างที่ใจ(หวัง) ก็มาทุกข์เพราะตัวเอง หรือเปล่า

 

ธรรมะตอบปัญหาเรื่องความเหงา(ได้อย่างไร?)

ดิฉันรู้สึกเสียใจ ทุกข์ และเหงา หลายต่อหลายครั้ง จนรู้สึกว่ามากพอแล้ว กับการที่จะต้องแก้ปัญหาทีละครั้งไปเรื่อยๆ แล้วก็มีปัญหา และความทุกข์ก้อนใหม่มาให้กลุ้มอีก ความรู้สึกว่าพอแล้วนี่แหละทำให้เกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องมีชีวิตแบบเดิมคือ คอยว่าจะโชคดี หรือมีความสามารถแก้ปัญหา และความทุกข์ได้ทุกครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตราบเท่าที่ชีวิตเรายังต้องขึ้นอยู่กับใครหรืออะไร เราก็ไม่สามารถรับประกันได้เลยว่า เราจะควบคุมความสุขนั้นได้ แล้วถ้าควบคุมไม่ได้ เราจะไม่สามารถเลือกมีความสุขด้วยตนเองได้เลยหรือ?

ความช่างสงสัย บวกกับแรงผลักดันของความเบื่อ ทำให้ดิฉันวิ่งหาที่พึ่งทางใจที่แรก คือศาสนา ซึ่งก็คือพุทธศาสนา ศาสนาประจำตัวที่ระบุว่ามีมาคู่กับตัวตั้งแต่มีใบสูติบัตร แต่ไม่เคยได้ศึกษาอย่างแท้จริงเลยว่า พุทธศาสนาสอนอะไร และช่วยตอบปัญหาความทุกข์ของเราได้อย่างไรบ้าง หลังจากเข้ามาศึกษาดูก็พบว่าพุทธศาสนามุ่งตอบปัญหาหลักที่ตรงใจกับที่ค้นหาพอดีคือ พุทธศาสนาให้คำตอบเรื่องการออกจากทุกข์ได้อย่างถาวร ดังนั้นการแก้ปัญหาใดของพุทธศาสนาจึงเน้นไปที่การหาต้นตอของปัญหานั้นแล้วดับที่เหตุ เช่น ถ้าเราทุกข์เพราะเหงาพุทธศาสนาก็จะสอน(วิธีการ)ให้เรารู้จักความเหงา ด้วยการให้เรารู้จักตัวเราเองดียิ่งขึ้น ความนัยเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร และไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเราจึงทำให้เราทุกข์มาตลอดทุกภพทุกชาติ เพราะต้องการจะพิสูจน์ว่าเรามีค่ามีตัวตนมีความสำคัญ มีคนเห็นมีคนรู้จักยิ่งพยายาม(ให้ตัวเรามี)ก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งพยายามแสวงหาตัวตนเท่าไหร่ พยายามให้ความต้องการของตัวเราเต็มเท่าไหร่ก็จะยิ่งพร่อง และไม่มีทางเต็ม เพราะอันที่จริงแล้วตัวเรา (และความสุขที่ถาวรโดยไม่เปลี่ยนแปลง) ไม่เคยมีอยู่เลย!

พูดแบบนี้หลายคนคงงงว่า อ้าว!จะบอกว่าเราไม่มีได้ไง ในเมื่อก็ฉันนี่แหละอ่านหนังสือที่เธอเขียนอยู่ ไม่มีฉันแล้วใครเป็นคนมาเข้าใจสิ่งที่อ่านล่ะ ถ้าตอบว่าที่เรารู้สึกว่า มีเรา เป็นเพราะความคิดของเราล้วนๆ หลายคนคงยังไม่เข้าใจ ดังนั้นขอยกคำอธิบายแจกแจงในทางพุทธศาสนามาบอกต่อให้ยาวหน่อยเกี่ยวกับเรื่องตัวเราว่า ความเป็นจริง สิ่งที่เรียกว่าเราเกิดจากการประชุมกันของรูปและนาม

ในส่วนของรูปนั้นประกอบขึ้นจากธาตุทั้งสี่คือ ดิน(หมายรวมถึงของแข็งทั้งหมดในร่างกายเช่น เนื้อ หนัง) น้ำ(หมายรวมถึงของเหลว เช่น เลือด น้ำตา น้ำลาย) ลม(ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก) ไฟ(ได้แก่ อุณหภูมิในร่างกาย) มาประชุมกัน เริ่มต้นจากไข่และสเปิร์มจากแม่และพ่อ เจริญเติบโตและพัฒนาขึ้นมาได้ด้วย หมู เห็ด เป็ด ไก่ ผัก ปลา ตลอดไปจนอาหารที่เรากินเข้าไปทั้งหมด ถ้าหาไปทั้งกายนี้ เราจะไม่พบแม้แต่โมเลกุลเดียวที่เป็นของเรา เราสั่งกายไม่ให้ป่วย ไม่ให้ไข้ สั่งให้ไม่ร่วงโรยได้หรือไม่ ทั้งหมดมันเป็นความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราของรูปขันธ์

ในส่วนของนาม จะชอบใครเกลียดใคร จะสุขหรือทุกข์ก็สั่งไม่ได้ตามใจอยากเพราะความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราของเวทนาขันธ์ ที่อยากจำบางทีกลับลืม ที่อยากลืมบางทีกลับจำ ก็เป็นความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราของสัญญาขันธ์ เวลาใจมันคิด มันปรุงเรื่องดีเรื่องร้าย มันก็ผุดโผล่ของมันเอง ตามการไม่อาจสั่งการ หรือถือครองว่าเป็นตัวเราของสังขารขันธ์ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราหลงเชื่อมาตลอดว่าเป็นเรา เป็นกาย เป็นความทุกข์ เป็นความคิด ของเรา ทั้งที่มันเปลี่ยนแปลง เติบโต เสื่อมสลาย และเราควบคุมมันไม่ได้สักอย่างเดียว!

ความเป็นอนัตตา เป็นอนิจจังของขันธ์ของจิตนี้มันแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ที่เราทุกข์เพราะเราพยายามให้จิตให้ขันธ์เป็นนิจจัง(เที่ยง/ไม่เปลี่ยนแปลง) เป็นอัตตา (ตัวตน) ไปสมมุติ พยายามแปะป้ายว่านี่ชื่อเสียง(ของเรา) นี่เกียรติยศ(ของเรา) นี่เรา นี่เขา รวมถึงการไปตัดสินสิ่งต่างผ่านป้ายเหล่านั้น ยิ่งไปพยายามบีบบังคับผู้อื่นก็เพราะเราไม่เห็นตามจริงว่าแม้แต่ตัวเรา เรายังบังคับ ยังเปลี่ยนนิสัยตัวเองไม่ได้ (สรุปคือเราทุกข์เพราะเราไปสร้างมันขึ้นมาเอง และเราก็ทุกข์เพราะสิ่งที่เราจินตนาการ/สร้างขึ้นมาแค่ในใจเท่านั้น ฉลาดไหมล่ะ)

ดังนั้นแทนที่จะแสวงหาปัจจัยภายนอกซึ่งจะต้องแสวงหาไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา  ทุ่มเทเวลาเอาอกเอาใจ ขอร้องอ้อนวอน ไปขอ ไปบังคับ ไปสร้างภาพเพื่อให้คนอื่นยอมรับ และบอกว่าเรามีตัวตนนะ เราสำคัญนะ ก็ควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ คือ เปลี่ยนมาค้นหา และดับด้วยวิธีภายใน ศึกษาเข้ามาที่ใจ ด้วยการรู้ตัวหรือมีสติสัมปชัญญะ หรือ การเจริญสติปัฏฐาน ในทางพุทธศาสนา อันเป็นคำตอบสำหรับความอยากรู้ว่าเรามีตัวตนจริงๆ

การรู้ตัวนี้เป็นการดูที่ใจ อ่านที่ใจ ไม่ใช่อย่างการอ่านตัวอักษรในหนังสือ เพราะการอ่าน (รวมถึงการฟัง) แบบทางโลกทั่วไป เราอ่านเราฟังเพื่อเข้าใจด้วยการคิดซึ่งเกิดในระดับสมอง ไม่สามารถทำให้ใจเชื่อได้ เหมือนที่เราอ่านหนังสือHowtoความรักฉบับต่างเข้าใจ หรือมีใครหวังดีมาบอกเราเราก็เห็นตามนั้น แต่เราไม่เคยทำได้เพราะใจยังหวงทุกข์อยู่ตลอด  หลักฐานข้อนี้เป็นตัวชี้วัดว่าสมองกับจิตเป็นคนละส่วนกัน ดังนั้นการจะทำให้เกิดปัญญา (ปัญญา หมายถึงความรู้ชัด รู้แจ้ง รู้แบบหมดมุมมืด รู้สิ้นสงสัย) ให้จิตใจถอดถอนจากอาการหวงทุกข์ได้ ก็ต้องใช้ใจนี่แหละเป็นผู้เรียนรู้ความจริงของใจ รู้ปรากฎการณ์ตรงที่ผ่านมาให้เห็นเช่นทุกข์ก็แค่รู้ว่าทุกข์ สุขก็แค่รู้ว่าสุข ไม่เข้าไปแทรกแซง ดูเหมือนคนวงนอก เพื่อให้จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนไปโดยไม่ได้มีใครสั่งเลยด้วยซ้ำตอนที่สุขก็ไม่ได้มีใครสั่งตอนที่ทุกข์ก็ไม่ได้ตั้งใจจะทุกข์ มันเป็นไปของมันเอง เมื่อสติตัวจริงหรือความเข้าใจจากใจเกิด ความเหงา ความเห็นผิด ก็จะลดลงเป็นคราวๆ และจะลดลงอย่างถาวรเมื่อจิตยอมจำนนจากการเห็นต่อเนื่องซ้ำๆ และเมื่อจิตรู้จักธรรมชาติของจิต เห็นจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ก็จะไม่ต้องทุกข์จากการดิ้นรนพยายามรักษาสิ่งที่ไม่ใช่เราไว้อีกต่อไป

แนวทางในการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาที่จะช่วยให้เราถอดถอนความเห็นผิดว่าเป็นตัวเราเสียได้คือ การเจริญมรรคมีองค์ ๘ (รวมย่อเป็น ศีล สมาธิ ภาวนา) หรือ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา โดยจิตจะถูกกลั่นเกลาได้ต้องอาศัยการรู้จักองค์ประกอบทั้งสามส่วนนี้

ส่วนแรกก่อนจะเจริญมรรค ก็มีเรื่องการให้ทาน คือ การสละแรงกาย แรงทรัพย์ แรงใจ การทำทานที่ถูกต้อง ควรตั้งต้นว่าการให้นี้เป็นการให้เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น เป็นการให้เพื่อสละความยึดของใจเรา โดยนัยนี้การทำทานเหมือนเป็นการใช้หนี้เก่า เป็นการละทิ้งสิ่งต่างที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในใจ เป็นการสละวาง เลิกยึดทุกสิ่งว่าเป็นตัวเราของเรา ที่เมื่อได้ทำเพื่อให้อย่างแท้จริงโดยไม่หวังผลอะไรตอบแทนกลับมา ใจจะเริ่มสงบลงจนเห็นได้

ส่วนที่สองคือ การรักษาศีล เป็นการตั้งใจว่าจะละเว้นการละเมิดผู้อื่น เปรียบเสมือนการไม่สร้างหนี้ใหม่ ไม่ไปก่อเหตุใหม่ ให้ใจต้องเป็นผู้รับผลต่อไป (เวรมณี สิกขา - ละเว้นการกระทำ) โดยการรักษาศีลนี้จะเป็นการตั้งใจ(สมาทาน)ว่าจะรักษา(ปทัง)ใจ เฝ้าดู เฝ้ามอง การกระทำของเราว่าไปละเมิดใครหรือไม่ ซึ่งการเฝ้าสังเกตนี้จะให้ผลเป็นการอบรมจิตให้เกิดความสนใจหรือรู้การกระทำของตนเอง ซึ่งเมื่อรู้บ่อยก็จะทำให้เข้าใจการกระทำของเราทั้งหมดว่า มันเกิดจากความคิดและความอยากที่อยู่เบื้องหลัง ต่อมาจะรู้และสามารถเชื่อมโยงว่าความทุกข์เกิดคู่กับความอยากในทางมโนกรรม วจีกรรม และ กายกรรมได้ในที่สุด

กล่าวได้ว่าการสมาทาน เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เป็นเรื่องของ การรักษาใจให้ปกติ เมื่อไม่ละเมิดผู้อื่น ไม่เบียดเบียน ก็คือเว้นจากการก่อเหตุให้ต้องกังวล ใจไม่แส่ส่ายเพราะความกลัวว่าจะถูกจับได้ รวมทั้งไม่กังวลว่าตนเองจะถูกละเมิดเช่นเดียวกับที่ไปละเมิดผู้อื่นเอาไว้ จิตก็จะสงบตั้งมั่นขึ้นมาได้

เมื่อใจสงบตั้งมั่นก็ไม่ยากที่จะเจริญในส่วนของการภาวนา (จิตตสิกขาและปัญญาสิกขา การอบรมจิตใจ) ต่อไป  เพราะจิตจะมี คุณภาพ คือสงบเพียงพอที่จะรู้สึกตัวเห็นกายเห็นใจหรือรูปธรรม นามธรรมที่เกิดเนื่องในกายในใจชัดเจนตามจริงหรือง่ายขึ้น ซึ่งการรู้สึกกาย รู้สึกใจหรือดูจิตที่ถูกที่ตรงนั้น จะต้องเป็นการตามรู้ตามดูเพื่อให้เห็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายตรงโดยไม่เข้าไปแทรกแซงคือ จะเห็นการแสดงตัวโดยธรรมชาติว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เรียกว่า จิต นั้นก็มีความเป็นไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็นเป้าหมายในการถอดถอนความเห็นผิดของจิต  ซึ่งความรู้สึกตัวนี้ ก็จะเป็นคำตอบของความเหงาในเบื้องต้น

เมื่อเข้าใจความหมายและประโยชน์ของการปฏิบัติ การรักษาใจในแต่ละข้อ ก็จะเข้าใจว่าทุกส่วนต่างเอื้อและสนับสนุนกัน การทำทานเป็นการรักษาใจในเบื้องต้นให้สงบลงด้วยอานิสงส์แห่งการให้ การสละ  ถัดมา การรักษาศีล เป็นการสร้างฐานที่มั่นคง สร้างเหตุให้ใจพร้อมที่จะเข้าสู่การภาวนา ผลที่ได้จากการภาวนาก็คือ ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น เพราะเข้าใจตนเอง เข้าใจเหตุแห่งทุกข์ และเมื่อเข้าใจกิเลสของตนเอง ก็จะเข้าใจกิเลสของผู้อื่น เข้าใจกรรมและการส่งผลของกรรม ไม่ถือโทษในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ยึดถือความทุกข์ ความสุข อารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏก็จะกลายคล้ายเหมือนเมฆหมอกที่ลอยมาแล้วก็ลอยไป  ความเหงาเพราะความเข้าใจผิดว่าเรามีตัวตนก็จะค่อยลดลง จนในที่สุดก็จะทิ้งความเห็นผิดว่าจิตคือเรา (ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า สักกายทิฏฐิ) ได้ในที่สุด เมื่อจิตไม่ใช่เรา สิ่งที่จิตไปรู้ก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์ก็จะลดลงอย่างมากมาย

 

รู้เหงา รู้ตัว รู้ใจ

พุทธศาสนาอธิบายให้เราเข้าใจในเรื่องกฎธรรมชาติและความเป็นเหตุเป็นผล  ผลหรือสิ่งที่เราได้ที่เราเป็นทั้งหมดนั้นมีเหตุจากกรรมที่เราทำ มีกรรมเป็นใหญ่ มีกรรมเป็นเบื้องหลัง แต่การจะตามไปแก้กรรมที่ทำไว้ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องเหลือวิสัยและยากลำบาก พุทธศาสนาจึงกล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องทุกข์(รวมทุกข์ของความรัก)  แบบถาวร  โดยการถอดถอนตัวตนซึ่งเป็นผู้รับผลของกรรมด้วยการรู้ตัวหรือมีสติหรือเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญาทางใจ เพราะเมื่อเราเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งสิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมจะคลายความเข้าใจผิดว่า ร่างกายเป็นเรา ความรู้สึกเป็นเรา ความจำเป็นเรา ความคิดเป็นเราการรับรู้เป็นเรา อันจะเป็นเหตุให้ปัญญาทำงาน เห็นสิ่งต่างตามความเป็นจริง คือแทนที่จะเชื่อใจที่บอด(ความรักทำให้คนตาบอด) ก็เปลี่ยนเป็นมาพิจารณาสิ่งต่างตามจริงว่าคนนี้เหมาะสมหรือไม่ มีศีล ศรัทธา ปัญญา จาคะ เสมอกันกับเราหรือไม่ มีฆราวาสธรรม คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ในระดับที่เพียงพอต่อการครองเรือนหรือไม่ รู้จักนำ รู้จักรับฟัง ภูมิปัญญาของผู้ที่ผ่านชีวิตมาก่อน เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย นักปราชญ์ และอื่นๆ นำมาคิดเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นและมองเห็นได้ พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหลายอย่างเป็นกลางอย่างละเอียด โดยไม่ด่วนสรุป

นอกจากนี้ความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นเราคนนี้แฟนเรา ก็จะหมดไป เพราะคลายจากความยึด ว่าทุกสิ่งคงอยู่แล้วก็เปลี่ยนแปลง อีกทั้งการเข้าใจตนเองจะทำให้เข้าใจผู้อื่น เราสามารถทำผิดได้อย่างไร หลงยึดตัวตนได้แค่ไหนคนอื่นก็ผิดก็หลงได้อย่างเดียวกัน คนที่เข้าใจตนเองจะไม่เกิดความคิดครอบงำหรือละเมิดผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธเคืองหรือพยายามเปลี่ยนแปลงใครเพื่อให้ได้อย่างใจตนเอง และชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นจากการเป็นอิสระเหมือนคนมีหนี้(ทุกข์)แล้วหมดภาระ(จากความหลงเข้าใจผิดที่มีมาเนิ่นนาน) เหมือนวันที่เหนื่อยกับการอ่านหนังสือมานานแรมปีแล้วรู้ว่าสอบติด หรือเรียนมาหลายปีแล้วรู้ว่าเรียนจบ หรือแบกภาระหนักๆ มานานแล้วภาระนั้นจบลง ความรู้สึกนั้นคือการหลุดพ้นจากพันธนาการเพราะความอยากที่ลดลง ที่อยากก็เพราะเข้าใจผิดว่าตัวตนมี จึงต้องหาอะไรมาปรนเปรอ เมื่อความเข้าใจผิดหมดไป  เห็นสิ่งต่างๆ เป็นธรรม ความทุกข์ทางใจที่เคยมีก็จะลดลงไปมาก


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.