รักตัวเองให้เป็น

 

เวลาคนอกหัก มักได้ยินประโยคให้กำลังใจจากคนรอบข้างว่า “ให้กลับมารักตัวเอง รักตัวเองให้เป็นนะ”

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เราทุกข์เพราะรักคนอื่น แต่หญิงก็ยังนั่งยันนอนยันอยู่ดีนะว่า เราไม่ได้ทุกข์เพราะรักคนอื่น

"ฝ่ายที่สุดโต่งจะมองได้แค่ซ้ายกับขวา"

ถ้ารักตัวเอง ต้องไม่สนใจคนอื่น ถ้ารักคนอื่นก็ไม่ต้องสนใจตัวเอง

การรักตัวเองไม่ได้หมายความว่าเห็นแก่ตัวนะ คนที่เห็นแก่ตัวไม่ได้เรียกว่ารักตัวเอง

การรักคนอื่นอย่างเดียว โดยไม่สนใจตัวเองเลย ก็ไม่ได้เรียกว่ารักตนเองอีก

"เราเข้าใจผิดเรื่องความสุข"

พอเราเข้าใจคำว่า สุข คือการได้มา

รักตัวเอง ก็คือให้ตัวเองได้มาก ๆ เราก็เลยคิดว่า มันคือการเห็นแก่ตัว

ต้องรักคนอื่นจึงจะเรียกว่าไม่เห็นแก่ตัว กลายเป็นว่าเราต้องให้คนอื่นอย่างเดียว?

แล้วคำว่า ตรงกลาง ระหว่างรักตนเองกับรักคนอื่น คือ ตัวเองต้องได้ครึ่ง อีกฝ่ายต้องได้ครึ่ง หรือ ? จะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัด วัดที่มูลค่าเงินกับของที่เสียไป หรือจะวัดจากมูลค่าทางใจที่จับต้องไม่ได้ ถ้าแต่ละคนมีความอยากไม่เท่ากัน คนหนึ่งอยากได้มาก ได้แล้วยังรู้สึกขาดตลอด กับอีกคนไม่ได้มีความอยากได้มาก ได้น้อยก็ไม่รู้ขาด วัดด้วยเครื่องชั่งที่เข็มเริ่มต้นจากจุดเริ่มต่างกัน อันหนึ่งเริ่มจากติดลบ อันหนึ่งเริ่มจากบวก จะเรียกว่าบาลานซ์ได้หรือ?


ความสุขแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคือ การได้อะไรสักอย่างที่น่ายินดีเท่านั้น ความรักของเราจึงมีแต่ให้กับได้ ให้ดอกไม้ ให้แหวน ได้สิ่งของ ได้เวลา ได้คำพูดหวาน ๆ มีสิ่งภายนอกเป็นที่มาของความสุข

ความรักจึงมักจะเป็นไปในรูปแบบการแลกเปลี่ยน

สลับกันได้ มากกว่าความรู้สึกที่ร่วมกันแชร์

ผลัดกันยอม มากกว่าร่วมเต็มใจกันให้

ทำให้เกิดความรู้สึก ฉันยอมเธออยู่ฝ่ายเดียว ฉันยอมเธอมามากแล้วนะ 

สุขเมื่อได้ จึงทุกข์เมื่อสูญเสีย หรือไม่ได้รับ


ถ้าคนเรามีความรักเพื่อจะมีความสุข หวังพึ่งสุขจากสิ่งภายนอก แปลว่าพึ่งตัวเองไม่ได้ จะแปลว่ารักตัวเองได้อย่างไร?

ถ้ามีใครตอบสวนกลับมาว่า แล้วถ้าพึ่งตัวเองได้จะมีแฟนไปเพื่ออะไร

หญิงก็คงจะตอบว่า นั่นสิ แล้วจะมีแฟนไปเพื่ออะไร ถ้าก่อนจะมีแฟนเรามีชีวิตอยู่ได้ แต่พอมีแล้วไม่มีกลายเป็นอยู่ไมได้ ทุกข์ปางจะตาย?

ก่อนการมีนี่ ไม่มีอะไร แต่พอมีแล้วก็ยึด ไม่อยากให้สิ่งนั้นสูญหายไป


ในทางพุทธ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะช้าหรือเร็ว จะต้องแปรเปลี่ยน คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในอำนาจตน

ความสุขอย่างพุทธจึงไม่ใช่การได้อะไรมา แต่...

"ความสุขอย่างพุทธคือการเข้าใจเหตุแห่งทุกข์ แล้วละเหตุแห่งทุกข์เสีย"

"ไม่ได้อะไรมา จึงไม่เสียอะไรไป" เพราะเห็นตามจริงแล้วว่า ได้อะไรมาก็ต้องสูญเสียไปทั้งหมด สิ่งทั้งหลายที่มี ก็มีไว้ใช้ และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตใจให้เข้าถึงความสุขจากความจริง

เหตุแห่งทุกข์ คือ "ความไม่รู้" สำคัญผิดว่า "มีเราได้อะไรมาจริง ๆ "

ทั้งที่...ตายไปก็คืนโลก เอาอะไรไปไม่ได้ ที่คิดว่าเอาไปได้ก็แค่ความหลงยึดเท่านั้น

ดังนั้น ต้องใช้ปัญญาจริง ๆ ว่าอะไรที่เป็นสุขแท้ ไม่ใช่สุขแล้วเป็นเหตุแห่งทุกข์ 


หญิงเห็นปัญหาของหลายคนคือไม่รู้ว่ามีแฟนไปเพื่ออะไร อาจจะเข้าใจว่ามีแฟนแล้วมีความสุข พอไม่เป็นดังหวังก็เลยเรียกร้อง ตัวเองเป็นทุกข์ แล้วก็ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์

ถ้าใจเรารักตัวเองเป็น ใจเราเต็มแล้ว ความรักก็ไม่ใช่การเรียกร้อง ไม่ได้มีเพื่อมาเติมส่วนที่ขาด (ให้ขาดแล้วอยู่ไม่ได้) แต่เป็นการอยู่ร่วมกันเพราะอยู่คนเดียวก็ได้ แต่อยู่ร่วมกันมันดีกว่า

ถ้าใจเรายังไม่เต็มร้อยสมบูรณ์ อย่างน้อย มีแฟนที่มีเป้าหมายเดียวกันว่าจะเติบโตทางจิตใจด้วยกัน ไม่ได้เพื่อเอาอย่างเดียว ก็น่าจะทำได้

แต่..ถ้ารักนั้นแค่ทำให้เราเป็นคนดีขึ้น แล้วยังพึ่งตนเองไม่ได้ แปลว่ายังดีไม่พอนะ

เพราะถ้าไม่มีอีกคนแล้วเราเป็นทุกข์ มันคงไม่ใช่รักแท้ที่สอนให้รู้จักรัก

ถ้ารักเป็นแล้ว ต้องรู้จักรักโดยไม่ทุกข์

คนรักเป็นที่พึ่งให้เราตลอดไปไม่ได้ 24 ชั่วโมง เพราะมีแต่เราที่อยู่กับตัวเราเองตลอดเวลา

แทนที่จะหวังว่าคนรักจะเป็นที่พึ่ง ให้มีความเห็นถูกเป็นที่พึ่งดีกว่า


คนที่รักตัวเองเป็นคือคนที่สามารถมีความสุข เพราะละเหตุแห่งทุกข์ได้ด้วยตนเอง ตอนมีสุขไม่เป็นปัญหาหรอก แต่ตอนมีทุกข์นี่ ถ้าเราจัดการตัวเองไม่ได้ เราก็มักจะสร้างปัญหา (เช่น ให้คนอื่นรับผิดชอบหน้าที่ คนรักมีหน้าที่ทำให้เราหายทุกข์ ถ้าเราอยากได้เวลา เขาต้องให้ ถ้าเขาไม่ให้ ทำให้เราทุกข์ แปลว่าเขาผิด !?! อ้าว)

ที่จริง ความทุกข์ของทุกคนมีเหตุอยู่ที่ตนเอง ไม่มีใครสามารถทุกข์แทนใครให้อีกฝ่ายหายทุกข์ได้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจตัวเอง เราจะสามารถผลิตเหตุแห่งทุกข์ขึ้นมาทำร้ายตัวเองได้เสมอ

เหตุแห่งทุกข์ของเราเกิดจากกิเลส กิเลสมากทุกข์มาก กิเลสน้อยทุกข์น้อย

มีความโลภ ความโกรธ ความหลงมาก ทุกข์มาก

มีความโลภ ความโกรธ ความหลงน้อย ทุกข์น้อย

เราตั้งใจขัดเกลาตัวเอง ไม่ปล่อยให้กิเลสมาบงการเรา ก็คือการรักตัวเอง

 

เห็นตามจริงว่าทุกอย่างแม้แต่กายใจ ความรู้สึก นึกคิด ของเราก็ยังต้องเสื่อม แปรเปลี่ยน ภาวนาจนจิตเห็นตามจริง เพื่อปล่อยวาง ไม่ต้องแบกทุกข์ เพราะไม่มีใครสั่ง อันนี้คือการรักตนเอง

 

ความรักของบางคนบอกว่า....

ถ้ารักแล้วต้องมีเวลาให้(เท่าที่ฉันต้องการ หรือไม่ต้องมาก แต่ห้ามน้อย <= วัดจากเกณฑ์อะไรสักอย่างที่ฉันกำหนดขึ้นเอง)

ถ้ารักแล้วฉันงอนเธอต้องง้อ (คือบางทีเธออาจจะไม่ผิด แต่ฉันงอน เธอก็ควรจะง้อ)

ถ้ารักแล้วต้องคิดถึงกันตลอดเวลา (แม้แต่เวลาเครียดเรื่องงาน หิวข้าว ปวดท้องอึ)

ถ้า... ถ้า... ถ้า... ฯลฯ

ยิ่ง check list เยอะเท่าไหร่ คือมีเงื่อนไขมากเท่าไหร่ จะยิ่งมีความสุขได้ยากขึ้นเท่านั้น กว่าความรักจะผ่านมาตรฐานเทียบเท่า ISO คงต้องใช้เวลานาน 

ความสุขจากการได้แล้วต้องได้อีก เทียบไม่ได้เลยกับความสุขที่เป็นอิสระจากการไม่ยึดถืออะไร ไม่ต้องตั้งเงื่อนไขที่จะลิมิตความสุขตัวเอง

ประโยคที่ว่า เราสามารถรักคนอื่นได้อย่างไม่มีเงื่อนไข  มันก็มาจากการที่เราไม่ตั้งเงื่อนไขกับสุขทุกข์ของตัวเองด้วยอัตตา ความเชื่อที่สร้างขึ้นมาเองเสียก่อน

เมื่อเราสามารถมีความสุขได้โดยปราศจากเงื่อนไข ไม่มีใครเป็นผู้แบกทุกข์ นั่นแหละ เราจึงจะสามารถรักคนอื่นได้อย่างไม่ทุกข์ และไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์ให้ใคร กับทั้งสามารถแชร์วิธีรู้จักรักให้กับคนรักหรือใคร ๆ

จะมีคนรักก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็รู้ว่าไม่ได้มีไปเพื่อเติมใจที่ขาด รักกันเพื่อทุกข์ แต่รักกันเพื่อประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางด้านปัญญาที่สูงขึ้น หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้รักกันเพื่อมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เพื่อสุขชั่วคราว แล้วรอวันตายจากกัน 


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.