กรรมส่งผลที่ความคิด

 
กรรมส่งผลมาที่ความคิด บทความนี้คัดมาจากกระทู้ที่พี่โจ้เคยตอบ เพื่อให้ความกระจ่างกับผู้ที่ยังติดในกรรมของตน ญเองตั้งแต่ทุกข์ แล้วเห็นวงจรกรรมของตัวเองมามาก ก็เลิกเชื่อความคิดแบบ ครึ่งรู้ ครึ่งคาดเดาเอาเอง แล้วค่ะ ปัจจุบันก็มุ่งสร้างเหตุที่ดี คือกรรมดี โดยไม่ปักใจ ประโยชน์คือ มีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ความคิดจึงไม่ใช่ของจริง มันจริงสำหรับผู้ยึดเท่านั้น
กรรมเปลี่ยนได้ นิสัยเปลี่ยนได้นะ ถ้าภาวนาแล้วรู้ทันความคิด ความคิดอันเป็นรากเหง้าเปลี่ยน กรรมก็เปลี่ยน ไม่เห็นจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง
เป็นไปได้ยากเฉพาะคนที่เอาแต่เชื่อความคิดตนเองแล้วไม่เพียรเปลี่ยนตนเอง สร้างเหตุที่ดีเท่านั้น:)

++++++

โดยพี่โจ้

"กรรมเป็นเรื่องซับซ้อน นั้น คำว่าซับซ้อนนี้ ถ้าเป็นผู้ที่(หลง)เชื่อ(ความคิด)ตัวเองมาก  ได้สำรวจตรวจสอบความคิดตนเองไม่มากพอ มีความสังเกตน้อย ให้เวลาในการศึกษาเรื่องนี้น้อย ก็จะรู้น้อย เข้าใจน้อย ที่พี่อธิบายได้มาก เข้าใจได้มาก เพราะรู้จักคนมาก สังเกตคนหลากหลายประเภทมามาก ทดลองมามากกับตัวเองเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้มีตัวอย่างเปรียบเทียบเยอะ และจับผิดความคิดตัวเองเสมอๆครับ"

ผู้ที่หลงเชื่อความคิดตนเองนั้น เกิดจากการพยายามทำความเข้าใจธรรมะ(กรรมก็เป็นธรรมอย่างหนึง)โดยการคิด ทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงทางไป เพราะไม่ตระหนักถึง หรือไม่เคยได้น้อมเข้าไป(รู้)ภายใน(จิต)ตน (โอปนยิโก) ซึ่งนำให้เกิดการ "รู้" ได้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง) ซึ่งเมื่อไม่สามารถรู้ได้ ก็ต้องใช้การคิดเอา จึงทำให้ไม่เห็นกิริยาของจิตตามธรรมชาติจริงๆได้ เขาจึงเกิดความเข้าใจธรรมที่คลาดเคลื่อนไปเพราะไม่ได้เห็นของจริง ได้แต่เพียง "คิดเอา" ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ โดยไม่ได้เกิดจากการ "รู้" จากของจริงภายในจิต หรือรู้อยู่บ้าง แต่คิดปรุงต่อ สภาพความจริงในจิตจึงถูกปรุงให้ไม่เป็นจริง สิ่งที่เขาเห็รนจึงไม่ใช่ของจริง ธรรมใดๆที่บรรยายโดยผู้ที่ยังไม่เคยเข้าถึงความรู้นี้ จึงเป็นของปลอม หรือสัทธรรมปฏิรูป

เมื่ออ้างถึงความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ เรามักใช้ควบคู่กันระหว่างคำว่า ความรู้ และ ความเข้าใจ คำว่า "ความรู้ความเข้าใจ" นี้ เป็นภาษาพูด ถ้าจะแบ่งแยกระดับความเข้าใจ หรือปัญญา (ความรู้ชัด) พระพุทธองค์ทรงแบ่งไว้ให้แล้วเป็นสามชนิด คือ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา สุตะ คือการฟัง จินตะ คือการคิด และภาวนา คือทำให้เจริญ(ไปสู่ความห่างไกลพ้นจากกิเลส) แต่ละระดับของปัญญา ถ้าจะว่าไป ก็คือความรู้ที่ชัดขึ้นมาตามลำดับ สุตมยปัญญานั้น ฟังแล้ว "นึกว่าตัวเองรู้" ซึ่งอันที่จริงแล้ว สำคัญผิด เพราะรู้แค่ที่ฟังมา ส่วนที่เหลือนั้น อย่างแรกคือ เชื่อว่าตนเองรู้แล้ว อย่างที่สองคือ คิดต่อในส่วนที่ขาด แล้วเชื่อเอา สำคัญตนว่าเข้าใจดีแล้ว

ส่วนปัญญา คือความรู้ชัด รู้แจ้งแทงตลอด (แจ้ง=สว่าง กระจ่าง ไม่มีอะไรมืดดำ คือไม่มีอะไรที่ไม่รู้) รู้ชนิดหมดสิ้นสงสัย ไม่ต้องคิดต่อในเรื่องนั้นๆ ปัญญาจะเกิดได้ ต้องอาศัยญาณ หรือ ความเห็นชัด ต้องมีความเห็นชัดก่อน จึงจะรู้ชัดได้ ความเห็นชัด ได้มาจากการเพ่ง ซึ่งก็คือ "การทำให้เห็นชัด" เป็นผลมาจากการพักจิต(ในฌาน) หรือเพ่งจิตให้รู้เพียงอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องในสภาวะที่ไม่(ให้)มีกิจกรรมใดๆ คือนิ่ง (เป็นสมาธิ) ไม่รับรู้ ไม่เอาเรื่องใดๆ (สมถะ)

การจินตนาการหรือคิดเอา ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือฟังมา แล้วมาคิดเอา ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเกิดความเชื่อและ/หรือยึดในความคิดตนเอง ทำให้เกิดความบกพร่องขึ้นในความรู้ความเข้าใจนั้นๆ ด้วยเหตุว่า เป็นความรู้ที่ชัดที่ "ชัดไม่จริง" ยังบกพร่องอยู่ เพราะไม่ได้มาจากความ "รู้" แต่เกิดมาจาการ "คิด" หรือ จินตนาการเอา ในขณะที่ความ "รู้" แท้ๆนี้ ขอให้รู้โดยไม่คิดได้แบบจะจะ เจ๋งๆ เพียงไม่กี่ครั้ง ก็จะเข้าถึงภาวนามยปัญญาได้แล้วครับ ภาวนามยปัญญานี้ เกิดจากการ "เห็นอย่างเป็นกลาง" คือ เห็นอย่างนั้น อย่างที่เป็นจริงๆ โดยไม่คิดปรุง ไม่เบี่ยงเบนเข้าข้างตนหรือใครๆทั้งสิ้น ข้อมูลพื้นฐานมาจากความเห็นชัด ที่นำไปสู่ความรู้ชัดที่เป็นกลางจริงๆ

ผู้ที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างความ "รู้" กับความ "คิด" ความที่ไม่สามารถรู้โดยไม่คิดไม่ปรุงต่อได้นี้ เป็นกำแพงมหึมาที่บดบังมรรคผลไว้ชนิดที่ว่า ถ้าไม่สามารถแยกตรงนี้ออกได้แล้ว (disclaimer : no flame please :-) ตามความรู้ทั้งหมดที่ผมมี

ยกจากที่เคยค้นในพระไตรปิฏกและจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด) สรุปว่า ขวางมรรคผลแน่ๆครับ (ข้อมูลเบื้องต้น ค้นที่วิมุตติ กระทู้ที่ 11 ครับ ธรรมที่ยังให้ท่าน)เนื่องจากทำให้ไม่สามารถเข้าถึงภาวนามยปัญญาได้  แม้จะฉลาดขนาดไหน แต่ถ้ายังคิด และรู้ไม่ทันในความคิด ก็เข้าไม่ถึง "รู้" แท้ๆ ครับ เมื่อเข้าไม่ถึงรู้(ชนิดที่ไม่มีความคิดหรือความปรุงแต่งตามมา) ก็น้อมเข้าไม่ถึงตนแท้ๆครับ เมื่อน้อมเข้าไม่ถึงตนแท้ ก็ไม่มีทางเห็นปัจจัยแห่งทุกข์ที่เกิดในจิตตนครับ ไม่ว่าจะทำบุญมากมาย รักพระพุทธเจ้า รักครูบาอาจารย์ รักพระไตรปิฏก สละชีวิตเพื่อศาสนาเท่าไหร่ก็ตาม ถ้ายังไม่ถึงรู้แท้ๆอันบริสุทธิ์นี้ ก็ไม่มีทางหลุดพ้นได้ครับ แต่อย่างไรก็ตาม การสละชีวิตเพื่อปกป้องพระศาสนา ก็สามารถส่งให้ไปเกิดใกล้ปัจจัยเพื่อความหลุดพ้นได้ อาจจะส่งไปเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป ถ้าไม่ไปสร้างกรรมหนักที่ไหนเสียก่อนเพราะความเชื่อในความคิดตนเอง แต่ความซวยก็บังเกิดได้เสมอ คือด้วยความที่เชื่อตนเองมาก ยิ่งคิดมาก หลงในความคิดของตนเองมาก ก็อาจจะกลายเป็นสัจจกนิครนถ์ไป

ผู้ที่เข้าถึงความ "รู้" ชนิดนี้แล้ว จะมีความสามารถในการแยกแยะข้อมูลต่างๆว่า เกิดจากจินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญาได้ ไม่ว่ารับฟังเรื่องใด อ่านข้อความไหน เมื่อมีข้อมูลพอควร ก็จะสามารถแยกแยะได้ ว่านี่คือรู้ หรือคิด นี่คือของจริง เขียนโดยคนที่เห็นจริงมากับตัว หรือคนที่เพียงแต่ "ฟังเขาเล่ามา" ครับ คนที่เข้าถึง "รู้" แล้ว จะเห็นได้ง่ายๆเลยครับ

ปัญญาแต่ละระดับนั้นก็ขึ้นกับความระดับของความ "รู้" นี่เองครับ ทวนนิดนึงนะครับ

อย่างแรกคือ สุตมยปัญญา รู้แบบที่สำคัญผิดว่าตนเองรู้ แต่แท้จริงเพียงแค่ฟังเขาเล่ามา ก็มาสรุปเป็นความรู้ของตน

อย่างที่สองคือ จินตมยปัญญา เริ่มจากฟังเขาหรือเริ่มจากคิดเองก็แล้วแต่ แต่คิดทบทวนไปมาจนสำคัญผิดว่าตนเองเข้าใจแล้ว แต่แท้จริงแล้วเพียงคิดเอา เพราะไม่สามารถแยกแยะระหว่างคิดกับรู้ได้

และสุดท้าย เข้าถึง รู้ที่บริสุทธิ์ล้วนๆไม่มีการคิดปรุงแต่งต่อใดๆ เป็นวิปัสสนา คือเห็นอย่างเป็นกลางอย่างแท้จริง ตรงนี้ เป็นภาวนามยปัญญาครับ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า สุตะและจินตมยปัญญานั้น จะไม่มีความสำคัญนะครับ ทั้งสุตะและจินตมยปัญญานั้น มีความสำคัญและขาดไม่ได้ในแง่ที่เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ภาวนามยปัญญาครับ

ผู้ที่จะสามารถบรรยายขยายความในธรรมได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยนนั้น จะต้องเกิดความเห็นจริงด้วยตัวเองว่าการ "รู้" ที่ไม่มีคิดเจือปนนั้น เป็นอย่างไร เรื่อง "รู้" นี่ อธิบายด้วยตัวอักษรเท่าไหร่ก็ไม่ได้ครับ เป็นเรื่องเฉพาะ เหมือนกับความเค็ม หรือสีเขียว เขียนอธิบายด้วยตัวอักษรไม่ได้เลย ว่าสีเขียว เป็นยังไง เค็ม เป็นยังไง บอกได้เพียงว่าเป็นรสชาติของเกลือ หรือเหมือนกับการอธิบายการถูกไฟฟ้าดูด การอธิบายเป็นหนังสือสักร้อยเล่ม ก็ไม่ทำให้คนเกิดความระมัดระวังได้มากเท่ากับคนที่โดนไฟฟ้าดูดแล้วรอดมาได้เพียงครั้งเดียว

>เพราะว่าที่ผ่านมาในหมู่คนที่รู้จัก ถ้าคิดเรื่องคนเรื่องความรักเรื่องความทุกข์อย่างนี้กันทีไร มักจะไม่ค่อยหาเหตุผลเข้าไปสู่เรื่องของกรรมเพราะมองเห็นได้ยาก

การยกตัวอย่างเรื่องพิจารณาจับผิดความคิดตนเองจะกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นเลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าสามารถเข้าถึงวิปัสสนา หรือความ "รู้" ชนิดที่ไม่มีการคิดปรุงต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง เนื่องจากการฝึกฝนจิตจนเกิดความฉลาดจากความเห็นชัดขึ้นในระดับที่สามารถสามารถแยกได้แล้วว่า อ้อ อันนี้รู้ อ้อ อันนี้คิด (ไม่ใช่เจ้าอ้อ วิลาศินีนะครับ ฮิ ฮิ) ความสามารถในการรู้โดยไม่คิดปรุงเข้าข้างตัวเอง(เพื่อสนองอัตตา)มากลบความรู้ชัดๆนี้ จะเป็นคำตอบในตัวเองให้รู้เองได้ว่าความคิดแบบนี้ เป็นความปกติ (ศีล) หรือไม่ นี่เป็นสาเหตุ ที่ผู้ที่มีสติรู้ตัวที่ต่อเนื่องเพียงพอที่จะแยกรู้กับคิดได้แล้ว จะอยู่ในศีลโดยไม่ต้องสำรวจ เพราะความ "รู้อย่างเป็นกลาง" นี่เอง และด้วยความ "รู้อย่างเป็นกลางนี้" จะทำให้สามารถเฝ้ามองและจับตัวเจ้าพวกความคิดที่เป็นผลจากกิเลสได้แบบจั๋งหนับ และถ้ายิ่งไปกว่านั้น ถ้ากล้าพอ ก็จะสามารถ "ไม่ไว้หน้ากิเลส" ด้วยการประจานกิเลสให้คนอื่นรู้ ในเวลาและสถานที่อันเหมาะสมได้ด้วย

อธิบายมาอย่างยืดยาวมากแล้ว มายกตัวอย่างเรื่องการจับผิดความคิดตนเอง(หรือผู้อื่น)บ้าง ถ้าตามทันมาโดยตลอด น้องจะเห็นแล้วล่ะครับ ว่าการยกตัวอย่างนั้น ไม่มีประโยชน์เทียบเท่าการ "รู้" ที่ไม่มีการคิดปรุงแต่งได้แม้แต่นิดเดียว แต่จะยกไว้ให้ดูสำหรับผู้ที่ตามไม่ทันจริงๆครับ

กระทู้นี้เป็นเรื่องคู่ ยกเรื่องคู่ละกันนะครับ เอาเรื่องที่เกิดบ่อยที่สุด ตั้งแต่เห็นแล้วขำ จนชักจะไม่ขำแล้ว ก็คือ เวลาคนเราบอกรักกัน มักจะปรุงแต่งเรียบเรียงประโยคให้สวยหรูดูเท่ห์อย่างมากมาย แต่ประโยคแบบนั้น ถ้าดูอย่างเป็นกลาง อย่างคนมีสติ จะพบความขัดแย้งชนิดที่ถ้าถามกันขึ้นมาแล้ว ผู้บอกแทบจะจนมุมตายตรงนั้นไปเลย เช่น

ผมรักคุณมาก ผมไม่ต้องการสิ่งใดๆจากคุณเลย "แค่ขอ" ให้เราได้อยู่เคียงข้างกันตลอดไป

เห็นไหมครับ ไม่ต้องการสิ่งใดๆจากคุณ แต่ไอ้คำ "แค่ขอให้อยู่ข้างๆผมตลอดไป" นี่ มันเรื่องใหญ่ที่สุดของชีวิตแล้ว ถ้ารับปากแล้วทำไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่มีใครทำได้หรอกครับ อยู่เคียงข้างกันตลอดไปนี่ :-) ผมเคยทดลองอ่านเนื้อเพลงรักหลายสิบเพลงรวดเดียว เจอความขัดแย้งแบบนี้กว่า 90% ครับ

เอาอีกตัวอย่างไหมครับ ที่เป็นความคิดเราเอง เช่น คำพูดหวังดีทั้งหลายของเราที่บอกกับคนรักว่า ชั้นก็ไม่ต้องการบังคับหรือกดดันเธอนะ "แต่" ..... ไอ้ "แต่" นี่แหละครับ ที่เป็นเรื่อง ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นกันนะ... :-)

หรือเวลาที่เราคิดว่าเราหวังดีกับเค้า "ทำไม" เค้าไม่เห็น เรื่องมันเกิดตรงที่มี "ทำไม" นี่แหละครับ เพราะคนที่ตั้งคำถามว่า "ทำไม" นี่ ไม่เห็นความขัดแย้งในความคิดตัวเอง เพราะจะเอาเรื่องนี่แหละครับ เลยเกิดคำว่า "ทำไม"

พอเห็นบ้างไหมครับ ว่าปัจจัยที่ทำให้คนก่อกรรมทำเข็ญกันนั้น เกิดจากความสงสัย จะต้องเอาคำตอบให้ได้นี่ทั้งนั้น

มีน้องคนหนึ่ง มีปัญหากับแฟน แฟนทำงานเก่งมาก รวยมาก โกหกเก่งมาก ทำงานในระดับสูงมากในบริษัทใหญ่โตมาก มนุษย์คนนี้มีความสามารถในการโยนความผิดให้ใครต่อใครได้เนียนมาก คงเป็นเพราะขาดมโนธรรมไปเรียบร้อยเพราะโกหกบ่อยมาก โกหกไปทุกเรื่องๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยมากๆที่ไม่น่าจะโกหก โกหกจนเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนหายใจ

 

ช่วงแรกน้องคนนี้ไม่เห็นเลย แต่พอตอนใกล้ๆจะเลิกกัน มาร้องไห้กับผม สะอึกสะอื้นอยู่หลายชั่วโมง เล่าเรื่องต่างๆให้ฟังอยู่นาน ผมก็ปลอบไปตามโอกาส จนน้องเค้าระบายสิ่งที่ล้นออกมาจนเริ่มสงบลง น้องเค้าก็ยิงคำถามที่ผมรอมานานคือ "พี่โจ้ เค้า(ชายหนุ่มคนนั้น) ทำอย่างนี้กับหนูได้ยังไง" คำตอบผมคือ "น้องไม่รู้เหรอ ว่าเค้าก็เป็นของเค้าอย่างนั้นมานานแล้ว" คุณน้องเก็บเอาคำพูดไปย่อย (ที่)อึ้งกิมกี่(สาขาอนุเสาวรีย์ชัยฯ) ไปสักยี่สิบวินาที แล้วก็คิดได้ "เออ จริงดิพี่ จริงๆแหละ ก็เค้าเป็นของเค้าอย่างนั้น หนูก็รู้แล้ว จะมาร้องไห้หาอะไรล่ะเนี่ย"

 

ตั้งแต่นั้นมา น้องคนนี้ก็คลายใจลงมาอย่างมาก เวลาขาดสติทีก็มาถามอีก ถ้าจำไม่ผิดก็ไม่เกินสามครั้งครับ ผมก็ตอบเหมือนเดิม จนครั้งที่สาม พอน้องถามเสร็จก็คิดได้ แล้วก็ตอบตัวเอง ว่า "แหะๆๆ หนูรู้แล้วล่ะ ว่าเค้าเป็นของเค้าอย่างนั้น พี่ไม่ต้องตอบแล้วก็ได้" หลังจากนั้นก็ดีวันดีคืนครับ จนเมื่อต้นเดือนนี้เริ่มสอนให้ดูจิตได้แล้ว เริ่มมีคำถามที่เห็นกิริยาจิตต่างๆมาถามแล้ว ซึ่งแสดงถึงว่าเค้าทำการบ้านจริงๆ เห็นอาการต่างๆในจิตจากชีวิตประจำวันจริงๆ และมีความหนักแน่นและวิริยะเพียงพอที่จะไม่ถามพร่ำเพรื่อ แต่ถามเมื่อดูจนแน่ใจแล้ว ว่าแก้ด้วยตัวเองไม่ได้จริงๆ จากวันที่ร้องไห้ตอนนั้นจนถึงวันนี้ สิริรวมแล้วก็สองปีพอดิบพอดีครับ จากที่เคยมีแฟนนิสัยห่วยๆ แต่รวย ก็กลายมาเป็นได้แฟนที่ถึงจะไม่รวยฟู่ฟ่ามากเท่าคนเดิมแต่ก็จัดว่าฐานะดีมาก แต่เรื่องนิสัย ความยับยั้งชั่งใจ ความเข้าใจในธรรมและเรื่องอื่นๆ เรียกได้ว่า เป็นคนหาได้ยากอย่างยิ่งเลยครับ ที่มาถึงจุดนี้ได้ เพราะน้องเขายอมรับในความผิดตนเอง ตั้งใจสังเกตและแก้ไข จับผิดความคิดตนเองกับความเป็นจริงเสมอๆ

หนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์เห็นผู้หญิงสาวสวยเข้า ก็คิด "เอ ข้างในจะเป็นยังไงน้า" เห็นภาพไหมครับ เริ่มจากอยากรู้ แล้วก็อยากเห็น แล้วก็อยากสัมผัส เรียงรายกันมาเลยครับ กาม ความพึงใจในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส การกระทำเพื่อสนองตัณหาชนิดนี้ ให้จิตได้เสพอารมณ์นี้จนพอแก่ใจนั้น เป็นกรรมใหม่นะครับ ไม่ใช่กรรมเก่า

การแต่งตัวของนางแบบทั้งหลายที่เข้าใจความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชายได้ดีนั้น ก็รู้กันดีครับ ว่าจะแต่งยังไงให้เป็นที่สนใจ เปิดหมด ก็ไม่เหลือความอยากรู้สิครับ ต้องวับๆ แวมๆ ถึงจะทำให้ผู้ชายเข้ามาทุ่มเท เพื่อสนองความอยากรู้(ของฝ่ายชาย)

ทำนองเดียวกันครับ ผู้ชายที่เข้าใจผู้หญิงดีถึงระดับหนึ่ง ก็จะมีวิธีการดึงผู้หญิงให้เคลิบเคลิ้มไปเช่นเดียวกัน ผมรู้จักผู้ชายคนหนึ่งที่สกุลดีมาก มาดดีมาก เรียนดีปานกลาง ฐานะดีมาก พูดเก่งมาก ความสงสัยก็มาก เท่าที่เขาพูดกัน เข้าใจว่า "รู้หมดแล้วผ่าน" กับสาวๆมาเกินครึ่งร้อยคนแล้วครับ ส่วนมากในนั้น เป็นพวกฐานะดี หน้าตาดี การศึกษาดี (ตามมาตรฐานโลก) เป็นส่วนมากๆครับ ผู้ชายคนนี้เป็นคนที่เข้าใจสาวๆดีมาก จึงสามารถดึงดูดคนได้มากขนาดนั้น มองในทางหนึ่ง ชายหนุ่มคนนี้ก็สร้างกรรมใหม่ตลอดเวลา

คนมีกรรมด้วยกันนั้น ด้วยความเห็นไม่ชัด จำได้ลางๆ รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าคุ้นเคยกันมา (อันที่จริงกรรมพามาเจอกันในสถานการณ์ที่เหมาะสม) เริ่มจากกรรมเก่านิดเดียว พอขาดสติ กิเลสก็ส่งให้สร้างปัจจัย หาเหตุผลให้ตัวเองกระทำกรรมใหม่ได้ทันทีในชั่วขณะจิตเดียวที่ขาดสติ

++++++


เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการภาวนาในรูปแบบเพื่อแยก “คิด” กับ “รู้”


สังเกตความรู้สัมผัสทางกาย เช่นเท้ากระทบพื้น หลังสัมผัสพนักพิง มือจับปากกา มีลมพัดผ่านไป อย่างนี้เป็นความรู้ แต่เมื่อไหร่ที่มีสมมุติของทางโลกเกิดขึ้นในการรับรู้นั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มีคำว่าเท้า มีคำว่าพื้น มีคำว่าหนอ มีคำว่าหลัง มีคำว่ามือ มีคำว่าปากกา นี่เป็นคิดไปแล้วครับ

ในการปฏิบัติภาวนาสำหรับผู้ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น เราซ้อมรบด้วยการอบรม(ทั้งอบ ทั้งรม)จิตให้อยู่กับความรู้ในขณะเดินจงกรม เช่น รู้เท้ากระทบพื้น รู้ไปจนกว่าจะชัดเจนว่า ไอ้อย่างนี้ คือรู้ล่ะ ทำให้จิตอยู่กับความรู้กายมากขึ้นและมากขึ้นไป ซึ่งในขั้นต้นนี้ การรู้กาย เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด เนื่องจากเป็นรูปธรรมมาก จากนั้นก็ลองมาสังเกตเวทนา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรู้สึกทางกายที่เป็นนามธรรมมากขึ้น จึงควรปูพื้นให้แน่นโดยการรู้กายจนแยกแยะได้ก่อน ว่าอย่างนี้ คือรู้ แล้วจึงมาหัดรู้เวทนา

หลังจากหยุดภาวนา นั่นแหละครับ ที่จะเป็นการออกรบของแท้ จะเสียท่ากิเลส ตัณหา เสียท่า ตกหลุมตกบ่อ สติหลุด หลงไปตามอารมณ์ หลงไปกับการปรุงแต่งของสังขารก็เมื่อผัสสะมากระทบระหว่างออกรบนี่เอง

indication ของสติที่ใช้การได้มากขึ้นในระหว่างวัน ก็คือการเห็นโทสะ เห็นราคะ เห็นโมหะในระดับที่ปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นได้ เช่น เห็นความโกรธเกิดขึ้น แล้วดับไป เห็นว่าจิตส่งออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นความง่วงเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นความขี้เกียจเกิดขึ้นแล้วหายไป เห็นความง่วงที่ครอบงำจนเกิดอาการง่วง/หาวแล้วอารมณ์นั้นหยุดลง ขาดลงไปกลางคัน

การปฏิบัติ การรบกับกิเลสนั้น ไม่ใช่การหลีกหนีผัสสะ แต่เป็นการอบรมจิตด้วยความรู้ตัว และใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ ที่ควรหลีกก็คือสิ่งที่ทำให้ขาดสติ เช่น เหล้าหรือยาบางชนิดที่ทำให้ขาดสติหรือสติอ่อนกำลังลง แต่ส่วนอื่นๆนั้น ผมมีความเห็นว่าควรปล่อยไปตามธรรมชาติ คือไม่ใช่วิ่งเข้าหาจนไม่เป็นธรรมชาติ และไม่ใช่หลีกหนีจนไม่มีโอกาสออกรบเลย

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่า การที่เราเองยังเจอเหตุการณ์บางอย่างอยู่ มักมีความหมายว่า จิตเราเองเป็นผู้มีส่วนในการเกิดขึ้นของเหตุการณ์นั้น และการเข้าเผชิญกับเหตุการณ์นั้นๆโดยมีสติสัมปชัญญะที่ฝึกฝนมาอย่างดี จะเป็นเหตุให้เราสามารถสอบผ่านจนก้าวหน้าไปตามลำดับได้ แต่ถ้าเราหลีกหนีและป้องกันตนเองไม่ให้เจอกับข้อสอบ ก็ยากที่จะได้เห็นว่า ปัญหาของเราที่ทำให้เราติดข้องไม่ก้าวหน้าไปนั้นอยู่ตรงไหน

เจริญในธรรมครับ


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.