ลักษณะของคู่ที่เหมาะสม

องค์ประกอบทั้งสี่ประการนี้คือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรัก และความรักที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมีได้หลายลักษณะและหลายคุณสมบัติตามปัจจัยที่มาประกอบแล้ว


พระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระญาณอันหมดจดแล้วพบว่า ในที่สุด คู่ที่มีความสุข ความเจริญที่สุด คือ คู่ที่เหมาะสมกัน ไม่สำคัญหรอกว่า จะหล่อ สวย รวย เก่ง ดี หรือสูงส่งด้วยศักดิ์ศรี เพียงใด ที่สำคัญคือทั้งคู่เหมาะสมกันเพียงใดต่างหาก

 

เกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาความเหมาะสมคือพิจารณาองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินชีวิตหลัก ๔ ปรระการ ได้แก่


๑. คู่ที่เหมาะสมควรมีศรัทธาเสมอกั

๒. คู่ที่เหมาะสมควรมีพฤติวัตรเสมอกัน

๓. คู่ที่เหมาะสมควรมีการสละเสมอกั

๔. คู่ที่เหมาะสมควรมีปัญญาเสมอกัน

        

ถ้ามาตรฐานทั้ง ๔ ประการนี้เสมอกัน อย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวงจะลงตัวกันได้โดยง่าย แต่หากองค์ประกอบหลัก ๔ ประการนี้ไม่เสมอกัน อย่างอื่นก็จะขัดแย้งกันไปตลอด ลองพิจารณาดูรายละเอียด



ความมีศรัทธาเสมอกัน

 

ศรัทธา แปลว่า ความยินดีอย่างยิ่งใน... เช่น ศรัทธาในความรัก ก็คือความยินดีอย่างยิ่งในความรัก ศรัทธาในศักดิ์ศรีก็คือ ความยินดีอย่างยิ่งในศักดิ์ศรี ศรัทธาในธรรมะก็คือความยินดีอย่างยิ่งในธรรม ศรัทธาในความบริสุทธิ์ก็คือความยินดีอย่างยิ่งในความบริสุทธิ์ หรือศรัทธาในความสุขก็คือความยินดีอย่างยิ่งในความสุข เป็นต้น

 

เช่น ยินดีในความรู้เหมือนกัน ก็จะทำให้เป็นคนใฝ่ศึกษาเหมือนกัน หรือยินดีในชื่อเสียงเกียรติคุณเหมือนกัน ก็จะทำให้เป็นคนขยันขันแข็งและมีมนุษย์สัมพันธ์ดีเหมือนกัน หรือยินดีในศาสนธรรมเหมือนกันก็จะทำให้พากันเข้าวัดเข้าวาด้วยกัน

 

แต่หากไม่ยินดีในสิ่งเดียวกัน ก็จะไม่ลงรอยกัน คนระรสนิยม คนละแนวทาง แยกกันทำ ซ้ำบางทีอาจจะตำหนิวิถีทางของกันและกัน อันเป็นเหตุแห่งความบาดหมางแตกแยกกันได้ หรือแม้จะยอมรักความแตกต่างกันได้ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน แต่ก็จะไม่เจริญรุ่งเรืองเต็มที่ เพราะไม่มีการรวมพลังและไม่ได้

เมื่อยินดีอย่างยิ่งในสิ่งเดียวกันแล้ว เวลาจะทำอะไรก็จะทำด้วยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุนกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของชีวิตคู่

 

เรื่องเคยมีมาแล้ว สามีภรรยาคู่หนึ่งอยู่กันมาจนมีบุตรแลธิดาถึง ๗ คน แรกสุดก็มีรสนิยมเหมือนกัน คือชอบสงบ จึงเลือกอาชีพชาวสวน ช่วยกันทำสวนจนมีเงินมีทอง เมื่อร่ำรวยจึงคิดจะปลูกบ้านหลังใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม ได้ให้ช่างไปออกแบบ

 

เมื่อช่างออกแบบมาแล้ว ปรากฏว่า ฝ่ายสามีชอบแบบหนึ่ง ฝ่ายภรรยาชอบอีกแบบหนึ่ง ตกลงกันไม่ได้ ต่างคนต่างมีความยินดีของตนที่ไม่เหมือนกัน ยอมกันไม่ได้  จนในที่สุดต้องสร้างบ้านขึ้นสองหลังเอาด้านข้างชนกัน

 

แล้วฝ่ายสามีก็อยู่ในบ้านแบบที่ตนเลือก ฝ่ายภรรยาก็อยู่ในบ้านแบบที่ตนเลือก ฝ่ายลูกเจ็ดคนก็แบ่งกันไป ลูกคนไหนอยากไปอยู่บ้านพ่อก็ไปอยู่อีกซีกหนึ่ง ลูกคนไหนอยากไปอยู่บ้านแม่ก็ไปอยู่อีกซีกหนึ่ง เกิดการแบ่งแยกกันโดยใช่เหตุ เพียงเพราะความยินดีไม่เสมอกันเท่านั้นเอง

 

ดังนั้น ศรัทธาเสมอกัน หรือความยินดีเสมอกันนั้น จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญเบื้องต้นของคู่ที่จะประสบความสุข ความเจริญและความสำเร็จในชีวิต

 

 

ความมีพฤติวัตรเสมอกัน

 

เช่น การบริโภค การพักผ่อน การทำงาน การออกกำลังกาย การศึกษา การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม เป็นต้น

 

การมีพฤติวัตรเสมอกัน หมายความว่า มีมาตรฐานการกระทำเสมอกัน เช่นเมื่อฝ่ายหนึ่งเอ็นดูในชีวิตทั้งปวง สมาทานการดำรงชีพโดยไม่ฆ่าสัตว์ ก็ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยกันทั้งคู่ หรือจะบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ งดเว้นอาหารที่ให้โทษ ก็ต้องบริโภคในทำนองเดียวกัน หรือหวังในประโยชน์สุขแห่งชีวิต จึงนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวันก็นั่งด้วยกันทั้งคู่ เป็นต้น

 

เช่น คนหนึ่งนอนตื่นเช้า อีกคนนอนตื่นสาย คนหนึ่งบริโภคมังสวิรัติ อีกคนบริโภคมังสารพัด คนหนึ่งไม่ดื่มเหล้า อีกคนเมาหยำเป คนหนึ่งเคร่งครัดในศีล อีกคนมีอาชีพฆ่าสัตว์

 

คนหนึ่งจะดูโทรทัศน์ อีกคนจะอ่านหนังสือเงียบ ๆ คนหนึ่งจะเล่นกีฬา อีกคนจะไปเล่นดนตรี คนหนึ่งชอบความสงบ ชอบนั่งสมาธิ อีกคนชอบเปิดวิทยุฟังเพลงดัง ๆ ถ้าต่างคนต่างแยกกันทำอย่างนี้ แต่ละคนก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวแม้จะมีคู่อยู่ทั้งคน

 

และดังนั้น ความมีพฤติวัตรเสมอกัน จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญพื้นฐานสำหรับชีวิตคู่ที่จะประสบความสุข ความเจริญและความสำเร็จ



ความมีการสละเสมอกัน

 

บุคคลสองคนที่มาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้นจะได้ถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกัน แม้ทรัพย์สินนั้นจะได้มาโดยทางบุรุษหรือสตรีก็ตาม เมื่อมีชีวิตคู่แล้วก็ถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวม ดังนั้น ความมีการสละเสมอกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมีสองขั้นคือ

 

ชั้นแรก  ต้องเต็มใจและทำการสละให้แก่กันและกัน ไม่ถือว่า นี่คือของฉัน นั่นคือของเธอ เพราะจะทำให้อีกฝ่ายสะเทือนใจลึก ๆ เป็นการแสลงต่อความสัมพันธ์อันสนิทใจ บัญชีธนาคารหรือบัญชีทรัพย์สินหลักควรเป็นบัญชีร่วมกัน ส่วนบัญชีส่วนตัวเพื่อความสะดวก

 

ในการปฏิบัติหน้าที่ประจำนั้นอาจแยกคนละบัญชีก็ได้ตามสมควรแก่กรณี การกระทำเช่นนี้จะทำให้ทั้งคู่มีความมั่นคง มีความรู้สึกร่วมรับผิดชอบ หากไม่จัดเรื่องนี้ให้ลงตัว ต่างฝ่ายต่างยังระแวง  คอยดูท่าที อาจเป็นเหตุให้หมางใจกันอยู่ และอาจไม่ทุ่มเทพลังสร้างชีวิตคู่อย่างเต็มที่

 

ชั้นที่สอง  เมื่อครองทรัพย์สินร่วมกัน ควรยินดีในการสละเสมอกัน เพราะเป็นธรรมดาของชีวิตในสังคมที่ควรเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เช่น การทำบุญให้ทาน การสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัยพิบัติ คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือการให้ตามประเพณีในโอกาสต่าง ๆ หรือ แม้แต่ภาษีรัฐและภาษีสังคม

 

ถ้าทั้งคู่มีความเต็มใจในการให้เสมอกัน ในจำนวนที่เห็นสมควรร่วมกัน ต่างคนต่างก็จะแช่มชื่นยินดี ได้บุญกุศลร่วมกัน 

แต่หากทั้งคู่มีความเต็มใจในการสละให้ไม่เสมอกัน ก็จะกระแนะกระแหน โกรธเคือง ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะเหตุแห่งการให้นั้น เช่น สามีเอาเงินไปช่วยเพื่อนที่กำลังเดือดร้อนในจำนวนมากกว่าที่ภรรยาเต็มใจ เธอก็อาจจะค่อนขอดว่าทีลูกเมียไม่รู้จักให้ เอาไปให้คนอื่น

หรือภรรยาเอาเงินไปทำบุญมากเกินไป สามีก็อาจไม่พอใจพาลวิพากษ์พระและสงสัยในตัวภรรยาไปต่าง ๆ นานาได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุแห่งความบาดใจ

 

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ต่างก็จะต้องเก็บส่วนของตนไว้เป็นการลับเพื่อจะได้ทำอะไรตามใจปรารถนาของตน ซึ่งนั่นคือความไม่ซื่อสัตย์ ไม่โปร่งใสอีกประการหนึ่ง อันเป็นเหตุให้ชีวิตคู่ไม่ประสบความสุข

 


ความมีปัญญาเสมอกัน

 

ความมีปัญญาเสมอกัน คือการที่ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เสมอกัน ถ้าคู่สัมพันธ์มีปัญญาเสมอกัน จะเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจกันตลอดเวลา ทำให้มิตรภาพราบรื่น และถาวร ไม่ต้องมานั่งบ่น นั่งว่ากันให้เสียความรู้สึก

 

การจะมีปัญญาเสมอกันได้นั้น คู่สัมพันธ์จะต้องมีความเสมอกันในองค์ประกอบข้างต้นสามประการ คือศรัทธาเสมอกัน พฤติวัตรเสมอกัน การสละเสมอกันโดยตลอด จึงอาจพัฒนาปัญญาให้เสมอกันได้ ถ้าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างฝึกฝนแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีปัญญาเสมอกัน         

 

เมื่อปัญญาไม่เสมอกันแล้ว ก็จะมีปัญหาความขัดแย้งมากมายตามมา เช่น การจำแนกว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษก็จะต่างกัน การจำแนกว่าอะไรควรก่อน อะไรควรหลังก็จะต่างกัน การวินิจฉัยเรื่องราวทั้งหลายก็จะต่างกัน วิธีการแก้ปัญหาก็จะต่างกันแนวทางเลี้ยงลูกก็จะต่างกัน และอื่น ๆ อีกมากมาย จะแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนั้น เป็นที่มาของกการว่ากัน โทษกัน และความแตกแยก

         

วิธีเดียวเท่านั้นที่จะประนีประนอมมิให้แตกแยกในท่ามกลางความแตกต่างได้ คือต้องมีปัญญาเสมอกันอย่างหนึ่งประการคือ ปัญญาในการยอมรับความแตกต่าง

 

คัดลอกจาก: จิตวิทยาแห่งความรัก

การเลือกคู่ และการอยู่คนเดียว

 

ไชย ณ พล , Ph.D.

 

------------

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระญาณอันหมดจดแล้วพบว่า ในที่สุด คู่ที่มีความสุข ความเจริญที่สุด คือ คู่ที่เหมาะสมกัน ไม่สำคัญหรอกว่า จะหล่อ สวย รวย เก่ง ดี หรือสูงส่งด้วยศักดิ์ศรี เพียงใด ที่สำคัญคือทั้งคู่เหมาะสมกันเพียงใดต่างหาก


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.