ความต่างระหว่าง ความรัก กับ เมตตา

โดย หลวงปู่มั่น

ถาม : เมตตา กรุณา กับรัก นั้น เหมือนกันหรือต่างกัน.?

ตอบ : ต่างกันมาก อย่างละ "อริยสัจ" ทีเดียว ความรักนั้นเป็น "สมุทัย" (เหตุให้เกิดทุกข์) เมตตานั้นเป็น "มรรค" (หนทางสู่ความดับทุกข์)


ถาม : เช่นรักบุตรหลาน ญาติมิตร คิดให้เป็นสุขและให้พ้นทุกข์ หรือสงสาร จะว่าเป็นสมุทัยได้อย่างไร รู้สึกรสชาติของใจประกอบด้วยความเอ็นดูปราณี

ตอบ : ความรักและความสงสารบุตรหลานญาติมิตร ประกอบด้วย "ฉันทราคะ" อาลัยห่วงใย กังวล พัวพัน ยึดถือ หนักใจไม่โปร่ง เมื่อคนรักเหล่านั้นวิบัติไป เช่น ตาย เป็นต้น ก็เกิดทุกข์โทมนัส เศร้าโศกเสียใจ อาลัยคิดถึง ถ้ารักมากก็โศกมาก สมด้วยพระพุทธสุภาษิตคาถาธรรมบท ปิยวรรคที่ ๑๖ ว่า

เปมโต ชายเต โสโก : ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก
เปมโต ชายเต ภยํ : ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส : ความโศกไม่มีแก่ผู้พ้นแล้ว
นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ : จากความรัก ภัยจะมีมาแต่ที่ไหน

เพราะฉะนั้น จึงผิดกับ "เมตตา กรุณา"

ส่วน "รัก" นั้นมีความชอบ และสงสารบุตรหลานญาติมิตร ไม่ทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นแต่ พรหมวิหาร (พรมหมวิหาร ๔ ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

ส่วน "เมตตา กรุณา" (โดยเฉพาะ) ที่เป็น "อัปปมัญญา" (แปลว่า ธรรมที่แผ่ออกไปในสัตว์แลมนุษย์ทั้งหลาย อย่างมีจิตใจสม่ำเสมอทั่วกัน ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต) นั้น ทั่วไปในสัตว์ ไม่มีประมาณ และไม่ประกอบด้วย ความห่วงใยอาลัย พัวพัน ยึดถือ มีความโปร่ง และเบาใจไม่หนัก มีจิตเย็นเป็นสุข และเป็นข้าศึกแก่พยาบาทโดยตรง และได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการด้วย ตามแบบที่ท่านแสดงไว้ใน เมตตานิสังสสูตร ว่า

๑. สขํ สุปติ : หลับก็เป็นสุข
๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ : ตื่นก็เป็นสุข
๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ : ย่อมไม่ฝันเห็นลามก
๔. มนิสฺสานํ ปิโย โหติ : ย่อมเป็นที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ : ย่อมเป็นที่ชอบใจของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวตา รกฺขนฺติ : เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗. นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ : ไฟหรือยาพิษหรือศัสตรา,
    วา สตฺถํ วา กมต : ย่อมไม่ต้องผู้เจริญเมตตานั้น
๘. ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ : จิตของผู้เจริญเมตตาย่อมมั่นเป็นสมาธิเร็ว
๙. มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ : สีหน้าของผู้เจริญเมตตาย่อมผ่องใส
๑๐. อสมฺมูโฬฺห กาลํ กโรติ : ย่อมไม่มีสติหลงตาย
๑๑. อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺณนฺโต : เมื่อยังไม่สำเร็จพระอรหันต์อันยิ่ง,
      พฺรหฺมโลกุปฺโค โหติ : ย่อมไปเกิดในพรหมโลก

ที่มา : ตัดตอนมาจาก ปฏิปัตติวิภังค์ จากหนังสือ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ : ในวงเล็บ เป็นคำขยายความเพิ่มเติมโดย พ่อไก่อู


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.