คิดได้

thank youเคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไหมคะ
"คิดได้แต่ทำไม่ได้"
"รู้หมดว่าต้องทำยังไง แต่พอถึงเวลาก็พ่ายแพ้"

ความรู้ของคนเรามีสองระดับนะคะ
คือ ความรู้ระดับสมองคือ อาจจะคิดได้ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะบางครั้งมันไม่สัมพันธ์กับความรู้อีกตัว คือ ความรู้ระดับใจ
ถ้าคุณเคยเป็นอาการข้างต้นแปลว่าสมองกับใจคุณไม่ได้ไปทางเดียวกัน

การให้ความรู้ทางสมอง
ก็อย่างที่คนบนโลกเค้าเรียนๆกันค่ะ ก็คือเรียนให้รู้จนชำนาญก็จะทำให้เก่งในเรื่องนั้นๆขึ้น
แต่ละคนมีความรู้ในแต่ละทางแตกต่างกัน เพราะฝึกฝนให้ชำนาญมาไม่เหมือนกัน
บางคนจึงคิดบางเรื่องได้มาก แต่บางคนคิดได้น้อย

วิธีที่จะทำให้สมองมีปัญญาในเรื่องใดๆนอกจากเกิดจากการฝึกฝน เรียนรู้จนชำนาญแล้ว
อีกวิธีหนึ่งก็คือ การเข้าใจเรื่องเหตุและผลว่า "ให้อย่างไรก็ได้อย่างนั้น"
วิธีนี้พี่ชายเป็นคนสอนญค่ะว่า ให้รู้จักให้ปัญญาคนอื่น มีปัญหาเรื่องใดก็ลองไปช่วยคนในเรื่องนั้นๆ
หลายคนอาจจะงง ก็มีปัญหาเรื่องนั้นอยู่จะไปสอนคนอื่นยังไง แต่ทำได้ค่ะ ญทำมาแล้ว

เบื้องต้นมันเกิดจากที่เราทุกข์เรื่องใดๆ ก็เกิดเมตตาสงสารผู้อื่นไม่อยากให้ผู้อื่นทุกข์อย่างเดียวกัน ญก็พยายามหาทางช่วยคนอื่น แรกๆอาจจะเป็นการหาธรรมะที่ตรงกับเรื่องนั้นๆ ค้นไปเพื่อคนอื่น แต่ก็เหมือนตัวเองได้เรียนรู้ด้วย

อีกแบบคือ บางทีเราไม่รู้ตัวว่าที่จริงเราก็คิดหาทางออก มีปัญญากับเขาเหมือนกันนะ เพียงแต่หลายครั้งเวลามีปัญหาเรามัวแต่จมอยู่กับคลื่นอารมณ์ ก็เลยแยกปัญหากับความรู้สึกไม่ออก
การช่วยคนอื่นได้เห็นปัญหาผู้อื่นอย่างคนวงนอก คือเราไม่เอาตัวตนของเราไปเกี่ยวข้อง ไม่เอาอารมณ์ อคติ รัก ชอบ เกลียดชัง ไปผสม จะทำให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริง ซึ่งมันก็จะย้อนกลับมาช่วยให้เราคิดแก้ปัญหาของเราได้เมื่อเราต้องมาเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน

จากประสบการณ์ของตนเอง ยิ่งให้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นก็ยิ่งย้อนกลับมาที่ตนเองค่ะ
ยิ่งให้ปัญญาก็ยิ่งได้ปัญญา แถมอีกเรื่อง อาจจะเป็นเรื่องที่แปลกมากๆแต่ก็เกิดขึ้นจริงๆและบ่อยมากค่ะ
คือ บางทีเวลาญเกิดปัญหาเรื่องอะไร จะบังเอิญว่าไปเจอคำตอบนั้นทันทีในไม่กี่วัน เช่น มีคนมาโพสต์ธรรมะเรื่องนี้พอดี เปิดหนังสือหน้าที่ตรงกับที่อยากรู้พอดี(หนังสือที่บ้านมีเป็นร้อย) เปิดซีดีเจอตอนที่ติดขัดอยู่ หรือมีคนมาให้ช่วยเรื่องนั้นๆ
บางครั้งมาแบบที่เรายังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังติดปัญหานี้อยู่ มีคนมาให้ช่วยเรื่องนี้พอดีก็เลยเห็นปัญหาตนเอง
เหตุการณ์แบบนี้ญเจอเป็นสิบๆครั้งค่ะ
พี่ชายเคยบอกว่า การให้ธรรม จะช่วยให้ใจเราเปิดรับธรรมได้

แต่อย่างที่เกริ่นไปนะคะ ความรู้ทางสมองเนี่ยมันก็ยังไม่อาจช่วยได้100%เพราะมันติดที่ว่าเวลาเรามีปัญหาเราคลุกอยู่กับความรู้สึกที่เป็นเรื่องของใจด้วย เหมือนมีม่านหมอกมาบังความจริง ทำให้เราไม่สามาถหลุดจากวังวนได้
ครูบาอาจารย์เคยบอกค่ะว่า แท้จริงแล้วจิต(หรือใจ)คนเรานั้นผ่องใส แต่กิเลสที่จรมานั้นทำให้จิตมัวหมอง
กิเลสนั้นก็คือ อารมณ์โลภ โกรธ หลงต่างๆ

อันว่าด้วยเรื่องปัญหาของใจ เราก็ต้องสอนให้ใจเรียนรู้ค่ะ
หมั่นสำรวจเข้ามาในใจบ่อยๆ เวลามีกิเลส โลภอยากได้อะไรจิตใจเรามันไม่อยู่นิ่งดิ้นรน เวลาโกรธใจมันร้อน เวลาหลงใจมันมัว
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านค้นพบว่า จิตมันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา จะไปสั่งบอกมันว่า อย่าดิ้นนะ อย่าร้อนนะ อย่ามัวสิ มันทำไม่ได้ค่ะ (เหมือนที่เราสั่งให้ตัดใจ ให้ลืมไม่ได้)
แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่า เราสอนให้จิตฉลาดขึ้น คุ้นเคยกับสิ่งใหม่ๆได้


เบื้องต้นครูบาอาจารย์เคยบอกว่า ปัญหากับทุกข์นี่มันคนละส่วนกันนะ
คนมีปัญหาอย่างเดียวกันแต่ก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์เท่ากัน
มองให้ออกก่อนว่าที่ทุกข์น่ะเพราะเข้าไปยึดว่า ความรู้สึกนี้เป็นเรา ความต้องการนี้เป็นเรา พอมันยึด มันทุกข์ก็เราทุกข์
ขั้นนี้เราสอนใจให้คุ้นชินที่จะวางได้ด้วยการทำทาน โดยมีเจตนาสละอะไรที่เราเห็นว่าเป็นของเราเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น เช่น สละเงิน สิ่งของ แรงกาย เวลา ปัญญา สังเกตดูว่าพอสละออกแล้วใจโล่งขึ้นไหม ยิ่งทำบ่อยจะยิ่งเห็นชัด ทำไปเรื่อยๆจิตจะเริ่มฉลาดรู้ว่า การปล่อยวางนั้นสุขอย่างไร พอเป็นสุขแล้วใจก็จะดิ้นน้อยลง

ขั้นต่อมาสังเกตว่าเวลาที่เราอยากเนี่ยจิตมันเป็นอย่างไร มันดิ้นรน พยายามวิ่งไปหาสิ่งที่เราเชื่อว่าจะทำให้เรามีความสุขใช่หรือไม่
อย่าเพิ่งไปนึกถึงว่าได้ไม่ได้นะคะ ดูให้เห็นว่าตอนอยากเนี่ยจิตมันดิ้นรนตะกายอย่างไร เหมือนเราอยากได้สาวสักคนหนึ่ง ต้องทุ่มเท แรงกาย เวลา กำลังทรัพย์มากเท่าไหร่ เหนื่อยไหมกว่าจะได้เธอมาครอง ตอนอยากนี่มันเหนื่อยนะคะ ใช้แรงมากแรงน้อยแล้วแต่เรื่อง

ความอยากนั้นเองมีสภาวะดิ้นรนเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรามีศีลเพื่อระงับความอยาก รู้ทันความอยากใหญ่ๆ5ข้อ อันได้แก่ศีล5เพราะหากละเมิด5ข้อนี้แล้ว จะมีผลเป็นให้ทุกข์อย่างมาก
แต่ถ้าเรามีปัญหาเรื่องใดจะเล็งมองที่เรื่องนั้นเป็นพิเศษก็ได้ค่ะว่า เราทุกข์เพราะมีเหตุ เหตุคือเราเคยไปทำให้คนอื่นทุกข์ใจอย่างนั้นๆไว้ ดังนั้นให้เราตั้งใจว่าจะไม่ทำใครทุกข์ใจอย่างนั้นๆอีก การเฝ้าสังเกตใจ มีสติรู้ทันความอยากที่ไปปละเมิดผู้อื่นนี่แหละ คือ ศีลอีกอย่าง ที่พี่ชายสอนค่ะ พอเรารู้ทันมันบ่อยๆ ไม่หลงตามมัน ก็เหมือนไม่ไปให้อาหารปิศาจร้าย ความอยากที่เร่าร้อนมากก็จะเบาลงๆ จนใจเราสงบและเป็นสุขได้

ลำดับต่อมา เมื่อเรากำจัดม่านหมอกให้เบาบางลงด้วยทาน และศีลแล้ว
เราก็ต้องมีสมาธิค่ะ เพื่อนคนหนึ่งเคยบอกว่าหลวงพ่อชาเคยกล่าวไว้ เวลาที่รถวิ่งอยู่ ยิ่งวิ่งเร็ว เรายิ่งเห็นข้างทางไม่ชัด แต่เมื่อรถหยุดเราจะเห็นข้างทางชัด
การทำสมาธิคือการมีสติอยู่กับเครื่องอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เจือด้วยกิเลส(ที่เป็นคลื่นมัวๆบังจิต) เช่น อยู่กับลมหายใจ หรือพุทโธ หรือสวดมนต์ และอื่นๆตามแต่ใครถนัดแบบไหน
พอมีสมาธิแล้ว จิตใจเราจะสงบละเอียดขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ทำให้เห็นสิ่งต่างๆได้ชัดแจ๋วขึ้น
มาถึงตอนนี้ใจเราจะมั่นคง ไม่คลอนแคลนตามคลื่นอารมณ์ จะทำให้เห็นความจริงได้ เข้าใจปัญหา แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นค่ะ

ความจริงประโยชน์ของทาน ศีล สมาธิ ยังไม่ได้มีแค่เอาไว้แก้ปัญหาทางโลกได้นะคะ แต่ขั้นที่เป็นประโยชน์ชั้นสูงจริงๆคือการเข้าใจธรรมชาติ
ตามที่หลวงปู่เทสก์เคยบอกไว้ว่า ไตรลักษณ์คือ ที่สุดของปัญญา
ไตรลักษณ์คือ ธรรมะชาติของสรรพสิ่ง ได้แก่ ความทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลง และความไม่ใช่ตัวตน
ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป
หากใจเรามีคุณภาพสิ่งบังตาเบาบาง มั่นคงไม่ไหวไปกับสิ่งภายนอกง่ายๆแล้ว เห็นไตรลักษณ์ตามจริงอย่างนี้ได้เรื่อยๆ จะไม่ยึดถือปัญหาใดๆในโลกว่าเป็นของเราให้มาเป็นทุกข์ของเราได้อีก:)

หมั่นสร้างเหตุแห่งความเข้าใจ ทีละเล็กทุกวัน เมื่อวันหนึ่งเหตุพอเหมาะแล้วก็ "คิดได้"


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.