อดทนต่ออารมณ์ อย่าอดทนต่อปัญหา

ปัญหาและความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่เคยจะธรรมดาสำหรับคนส่วนใหญ่สักเท่าไหร่ ไม่มีใครชอบมีปัญหาและความทุกข์ แต่มันก็เข้ามาเยือนในชีวิตเราได้เสมอ ดังนั้นแทนที่จะพร่ำบ่นซึ่งไม่ก่อประโยชน์ใดๆ แถมยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับใจเราและคนฟัง ลองมาดูข้อดีและวิธีแก้ไขมันกันค่ะ

 

ในแง่ดี ปัญหาและความทุกข์ช่วยให้เราฉลาดขึ้น เพราะมันทำให้เราเห็นข้อผิดพลาดของตนเอง คนเราส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาเกิดจากคน สถานการณ์ สิ่งภายนอก ต้นเหตุไม่ได้เกิดจากเรา ดังนั้นเราจึงทำอะไรไม่ได้ เราจึงถอดใจ ยอมแพ้ และทุกข์แบบไม่มีทางออก ในเรื่องนี้ลองสำรวจดูเถิด หลวงพ่อชาเคยเทศน์ไว้ว่า "เราคิดดูซิว่าถ้าคนทุกคนต้องพูดให้ถูกใจฉัน คนทุกคนต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสงบ ฉันจึงจะสบาย คนทั้งโลกจะให้เขามาพูดถูกใจเรามีไหม จะมาทำถูกใจเราทุกคนมีไหม ไม่มี เมื่อไม่มี เราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีการปล่อยวาง" คุณๆคิดว่าจริงไหมคะ เพราะทุกคนคิดแบบนี้ ก็เลยมีแต่ทุกข์กันเท่านั้น :)

 

ที่บอกว่ามันช่วยให้เราฉลาดขึ้นเพราะมันทำให้เห็นข้อผิดพลาดของเรานั้น ในแง่หนึ่งคือมันทำให้เห็นว่าเราตั้งมุมมองไว้ผิด มันก็เลยต้องทุกข์ การหมั่นสำรวจใจตนเองแบบนี้บ่อยๆช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ เพราะแก้ถูกที่ถูกคน แก้และเปลี่ยนในที่ๆทำได้(เราบังคับตนเองมันยาก แต่บังคับและพยายามเปลี่ยนคนอื่นทุกคนยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่) ดังนั้นการยอมรับปัญหาด้วยใจเป็นกลางจึงมีส่วนช่วยลดความทุกข์ให้ใจได้มาก การแก้ปัญหาด้วยการอดทนต่อการแสดงอารมณ์ที่ไม่พอใจ โกรธ ผิดหวัง กลัว ท้อแท้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมันเป็นส่วนเกินของปัญหา

 

ในแง่ต่อมา ชาวพุทธที่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม อย่างน้อยให้ลองย้อนมาดูตนเองว่า ที่เราเจออะไรแบบนี้ได้มันเป็นเพราะเราเคยสร้างปัญหาและทำอะไรแบบนี้ไว้กับคนอื่นมาก่อนเช่นกัน ทุกปัญหาที่เข้ามาล้วนแสดงข้อผิดพลาดที่เราเคยทำในอดีต หากเราได้เรียนรู้ว่า มีคนมาทำแบบนี้แล้วเรารู้สึกไม่ชอบและเป็นทุกข์อย่างไร แล้วเฝ้าระวังความคิด คำพูด และการกระทำของตนเอง ไม่ให้ไปพลาดทำเช่นนี้กับคนอื่น เพื่อจะต้องกลับมารับผลอีก(ที่เขาเรียกว่ากงกรรมกงเกวียน) มองในแง่นี้ สิ่งต่างๆภายนอกก็เป็นเหมือนครูและบทเรียนที่เราจะต้องขอบคุณ ในแง่การกระทำไม่ได้หมายความว่าให้เรานิ่งรับกรรมเก่าโดยไม่ทำอะไร แต่เป็นการฝึกลับปัญญาตนเองให้สร้างกรรมใหม่อันเป็นเหตุที่ดีอย่างชาญฉลาดเช่น ภรรยาที่โดนสามีทำร้ายร่างกายก็ไม่ได้แปลว่าต้องตั้งหน้าตั้งตาทนมือทนไม้ จะหลบจะเลี่ยงจะเลิกท่าไหนก็ต้องคิด หรืออย่างเช่น หากเราเจอคนพูดจาไม่ดีใส่ นอกจากพยายามให้อภัยเพราะเข้าใจเรื่องกรรมแล้ว เราก็ต้องคิดว่าเราจะตอบรับกรรมนี้ด้วยวิธีไหน  หากเป็นพ่อแม่ หากคนๆนั้นเป็นเจ้านาย ลูกน้อง ลูกค้า เขามีลักษณะนิสัยอย่างไร บางคนเราจำเป็นต้องอดทน ต้องยอม หรือเลิกคบไปซะก็ได้ บางคนเราควรตอบแทนให้สิ่งดีๆเขากลับ หรือบางคนอธิบายแล้วไม่มีทางเข้าใจยิ่งจะกลับทำให้ปัญหาบานปลาย บางคนต้องใช้ไม้อ่อน มีของหลอกล่อ อุปกรณ์ชวนให้เชื่อ บางคนต้องใช้ไม้แข็ง เมื่อรักษาใจเราได้แล้วขั้นต่อมาก็คือพยายามใช้ศาสตร์และศิลป์ที่เราต้องฝึก และแก้ปัญหากับคนกับสิ่งต่างๆไปจนเมื่อเจอทางที่ถูกแล้วปัญหานั้นก็จบ เหมือนสอบผ่านแล้ว มีปัญหาแบบนี้เข้ามาอีกก็แก้ได้สบาย หรือไม่มีความทุกข์ทางใจอีก


ถ้าคิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องการอดทนต่ออารมณ์และการแก้ปัญหาอย่างไร แนะนำว่าการทำทาน ธรรมทาน รักษาศีล ฝึกทำสมาธิให้ใจสงบนิ่งขึ้น และการภาวนาวิปัสสนาช่วยได้ค่ะ ทำเยอะๆบ่อยๆแล้วจะเห็นเอง:)

 

สรุปก็คือ การอดทนต่ออารมณ์นั้นมีความจำเป็นเพราะ ถ้าไม่อดทน อารมณ์ต่างๆเหล่านั้นแหละที่จะทำให้ปัญหาใหญ่และลุกลามขึ้น ส่วนการยอมอดทนต่อปัญหาโดยไม่หาทางแก้นั้นจะทำให้เรามีปัญหายืดเยื้อ บานปลาย แก้ยากขึ้น และเป็นต้นตอที่ทำให้ทุกข์ซ้ำซากยืดเยื้อ การอดทนต่ออารมณ์ที่แกว่ง มืด จนจิตใจสงบ สว่าง จะทำให้เราฉลาดเพราะเห็นอะไรได้ชัดขึ้น เมื่อตั้งใจที่จะหาทางแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้ว เราก็จะสามารถค้นพบวิธีที่หลากหลาย เมื่อลงมือทำแล้ว เชื่อว่าทุกปัญหาจะเป็นบทเรียนให้เราเรียนรู้ เติบโต และมีความสุขมากขึ้นๆได้จริงๆ:)


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.